ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการอีสปอร์ตในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการผลักดันทั้งภาคเอกชน , หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังสามารถกลายเป็นอาชีพได้จริง ซึ่งนอกจากโปรเพลย์เยอร์ แล้วสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกมสนุกยิ่งขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นคืออาชีพนักพากย์ ที่นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้วงการเกมมีสีสัน จากสไตล์การพากย์ของแต่ละคน
- ONE on ONE : FirstOne ผู้เวียนว่ายตายเกิดกับวงการ MOBA ไทย
- ONE Esports Talk : MeMarkz การกลับมาของผู้ปลุกกระแส RoV เมืองไทย
ปัจจุบันวงการนักพากย์เติบโตไปพร้อมๆกับวงการเกม นักพากย์กลายเป็นอาชีพที่มีมนต์เสน่ห์อันเกิดจากเอกลักษณ์ของแต่ละคน ซึ่งบางครั้งแฟนเกมที่เข้ามาชมการแข่งขันไม่ได้ตามมาเพราะเชียร์ทีมนั้นๆ แต่กลับเข้ามารับชมเพราะนักพากย์ก็มีไม่น้อย และหนึ่งในนักพากย์ที่มีสไตล์เฉพาะตัว ป่วน กวน ฮา อย่าง ใจร้าว หรือ ไมค์ ศุภพงษ์ เกียรตินภาลัย ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยอมรับของวงการนักพากย์ แน่นอนว่า เขาคือหนึ่งในนักพากย์รุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้
แต่เมื่อมองย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ไม่มีใครคาดคิดว่า นักพากย์อย่างเขาจะเคยถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงขั้นไล่ให้ไปตาย และเกือบตัดสินใจออกจากวงการเกม
แต่เขาผ่านมาได้อย่างไร การต่อสู้เพื่อไต่เต้าสู่นักพากย์ระดับประเทศต้องเจอกับอะไรบ้าง ONE Esports อาสาพาไปเจาะลึกทุกเรื่องราวของเขา
ว่าที่เถ้าแก่น้อย
ไมค์ เกิดในครอบครัวฐานะมั่งคง ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ชีวิตของเขาเพียบพร้อมทุกอย่าง เมื่อเรียนจบก็กลับไปช่วยธุรกิจที่บ้านตามประสาครอบครัวนักธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างชีวิตมั่นคงให้ตัวเอง ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องสู้ชีวิตหาเช้ากินค่ำ เพียงแต่นั่นไม่ใช่ชีวิตในแบบที่เขาต้องการ
“ที่บ้านผมทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถ้าถามว่ามันมีความสุขไหมก็โอเคนะ แต่สุดท้ายการทำงานกับคนครอบครัวมันเป็นเรื่องยาก” ไมค์ เล่าย้อนถึงการเปลี่ยนจากว่าที่นักธุรกิจหนุ่ม หันเหสู่วงการเกม ซึ่งเป็นเส้นทางที่เขายอมทิ้งทุกอย่าง เพื่อเริ่มต้นใหม่กับเส้นทางที่เลือกด้วยตัวเอง
“การทำงานกับที่บ้านทำให้ผมรู้สึกไม่มีตัวตน ไม่มีใครยอมรับในสิ่งที่เราพูด เวลาเสนอความคิดเห็น เขารับฟัง แต่ก็ปฏิเสธกลับมา สิ่งที่ผมพูดออกไปไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เหมือนผมไม่มีตัวตนในจุดนั้น ไม่ได้รับความสำคัญ ทำให้ผมตัดสินใจออกมาหาเส้นทางของตัวเองดีกว่า”
“ตอนแรกมีกลับไปอ่านหนังสือ เพราะผมเรียนกฏหมาย ตั้งใจจะไปสอบเป็นผู้พิพากษา แต่อ่านไปได้อาทิตย์เดียวไม่ไหว รู้สึกทรมานมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาทนนั่งแบบนี้ ก็กลับมาคิดว่า จริงๆแล้วสิ่งที่เราชอบคืออะไร ก็มีคำตอบว่า เราชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็ก สมัยเด็กๆเวลาคุณพ่อไปทำงานข้างนอกเขาจะเอาผมไปทิ้งไว้ที่ร้านเกม ซึ่งเป็นร้านของคนรู้จัก หลังเลิกงานก็มารับทำให้ได้คลุกคลีกับเกม”
“ตอนนั้นผมรู้จักกับอาชีพ Youtuber จากเพื่อน แต่ยังไม่รู้จัก streamer เพราะในไทยมีไม่กี่คน ผมหันไปเริ่มต้นแคสเกมก่อนเป็นอย่างแรก”
ไมค์ เลือกเข้าสู่วงการเกม โดยเริ่มต้นจาก Youtuber อาชีพที่กำลังได้รับความนิยม แต่แน่นอนว่า ลูกชายของครอบครัวนักธุรกิจอย่างเขา การหันหลังให้กิจการครอบครัว เพื่อเล่นเกมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครยอมรับ ทำให้ ไมค์ ต้องสู้กับเสียงที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งมาจากครอบครัวของเขาเอง
เมื่อสิ่งที่ชอบ มีค่ามากกว่าเงิน
หลังตัดสินใจเดินสาย Youtube เกี่ยวกับเกมจริงจัง เขาถูกครอบครัวปฏิเสธในสิ่งที่เขาทำ เพราะนอกจากโดนมองว่าไม่ใช่อาชีพ ยังมีเรื่องของเงินเดือนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อรายรับนั้นน้อยนิดกว่าหากเทียบกับธุรกิจของครอบครัวที่เขาเคยทำ
ชีวิตของไมค์ต้องจมอยู่กับเสียงของคนในครอบครัวที่พร่ำบอกให้เขาลาออกจากอาชีพนี้ทุกๆวัน
“วันที่ทำจริงจัง เสียงรอบข้างนี่หนักมาก ตอนนั้นผมเข้าไปทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งที่เขาทำทีม Dota ผมโดนที่บ้านบอกให้ลาออกทุกวัน ย้ำว่าทุกวัน พูดจนผมไม่อยากกลับไปเจอหน้าที่บ้าน เขาบอกจะไปทำอะไรได้ เงินเดือนไม่ถึงหมื่น ไปสายก็โดนหักเงินเดือน พอผมมาคำนวน ถ้าเอาตรงๆตอนนั้นเงินเก็บเหลือไม่ถึง 3,000 บาท”
“ผมเข้าใจนะว่า พ่อแม่เป็นห่วง อาชีพนี้เงินน้อย ที่บ้านไม่มีใครเห็นด้วย ยกเว้นน้องๆ ที่เข้าใจในสิ่งที่เราทำแต่ตอนนี้เขาเปิดรับหมดแล้วเพราะเราเลี้ยงดูตัวเองได้”
ทุกวัน ไมค์ ต้องเจอกับคำเดิมๆจากครอบครัวที่ต้องการให้ลาออก และกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน แต่เหตุผลเดียวที่ทำให้เขาปฏิเสธ และต้องการทำในสิ่งที่เลือกต่อไปคือความรัก และเส้นทางชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง
เมิน MOBA มือถือ / อคติ RoV
หลังตัดสินใจเอาจริงเอาจัง ไมค์ เข้าสู่วงการเกมเต็มตัวเริ่มต้นจากการเล่นเกม MOBA ยอดฮิตอย่าง Dota 2 ซึ่งถือเป็นเกมเริ่มต้นของสาย MOBA ที่หลายคนชื่นชอบ
แต่น่าเสียดาย เมื่อในไทย Dota 2 ไม่เป็นที่นิยมมากนัก ด้วยรูปแบบของเกม , ตัวฮีโร่ และกราฟิกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความนิยมลดลงเรื่อยๆ กระทั่งการมาของ RoV ช่วยจุดกระแสให้เกม MOBA อีกครั้ง แต่เปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบเกมมือถือแทน
“เริ่มแรกผมเล่น Dota 2 แต่ตลาดในไทยไม่โตเท่าที่ควร รู้จักกันแค่กลุ่มที่เล่นเท่านั้น ตอนนั้น RoV มาแรงมากกับกระแสของเกมมือถือ เพื่อนผมก็ไปเล่นหมด แรกๆผมอคตินะคิดว่า ทำไมต้องเปลี่ยนไปเล่นในมือถือด้วย มันดูห่วยมาก แต่พอเปิดใจเล่นมันก็รู้สึกโอเค เพียงแค่ความฮาร์ดคอร์ มันดร็อปลงไป แต่ข้อดีคือคนทั่วไปเข้าถึงง่าย คนดูก็มีเยอะ มันทำให้ผมคิดว่า จุดนี้น่าจะไปได้สวย”
“แต่ถ้าเทียบระหว่างความเป็น MOBA บนคอมพิวเตอร์กับมือถือ ผมคิดว่า บนคอมมันฮาร์ดคอร์ มีอารมณ์เหมือนต้องถวายชีวิตให้มันต่อการเล่นหนึ่งตา มันเครียดกว่า มันยากกว่าจะชนะในเกมๆหนึ่ง ไม่ใช่ว่า จะทำอะไรด้วยคนเดียวได้ ใช้ความเป็นทีมเยอะกว่า เล่นยาก แต่อินกว่าในมือถือ ถ้าอยากได้การเล่นที่ดุเดือดก็ต้อง Dota แต่พอมาอยู่ในมือถือก็ต่างไปอีกมุม ต้องยอมรับว่า มันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คน”
“MOBA ในมือถือเข้าใจง่ายใช้เวลาไม่นาน เล่นไม่ยากเกินไป อยู่ในจุดที่เข้าถึงอารมณ์การเล่นที่ไม่ใช่ครึ่งชั่วโมงกว่าจะจบ แต่เล่นแค่ 10-15 นาทีก็จบแล้ว ผมคิดว่าข้อดีคือ ถ้าเรามีเวลาหนึ่งชั่วโมง แต่อยากเล่นหลายตัว ก็สามารถทำได้เล่น 2-3 ตา ได้เลย แต่ถ้าเล่น Dota อย่างมากตาครึ่งก็หมดเวลาแล้ว”
RoV เป็นจุดเปลี่ยนวงการ MOBA อย่างแท้จริง เมื่อเปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์ มาอยู่ในมือถือ ที่เล่นง่าย สะดวกรวดเร็ว และสนุกไม่แพ้กัน แต่สำหรับ ไมค์ เริ่มแรกเขาไม่มีความชอบ RoV แม้แต่น้อย ซ้ำยังมีอคติต่อเกมนี้ด้วยซ้ำ
“สิ่งที่ยากที่สุดของการปรับเปลี่ยนจากจาก Dota มา RoV คืออีโก้ครับ อย่างที่ผมบอกใครมันจะมาเล่นในมือถือ เราเล่นในจุดสูงสุดมาแล้วบนคอม แต่กลับโดนลดลงมาอยู่ในมือถือ ตอนแรกผมมีอคติในใจ ไม่โอเคเลย แต่พอเปิดใจลองเล่นก็รู้ว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด”
“ผมกลับมองว่า มันเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเกม MOBA จริงๆมันเกิดการเปรียบเทียบ ว่า เกมนั้นดีกว่าเกมนี้ เกมนั้นก็อปเกมนี้นี่แล้วจะไปเล่นทำไม คนเล่นเกมในมือถือกระจอก มีเยอะมาก ผมเลยคิดว่ามันเป็นเรื่องอีโก้ของคนที่จะย้ายจากคอมมาเล่นในมือถือ คือคนเล่นบนคอม ถ้ามาเล่นในมือถือต้องเก่งกว่าอยู่แล้ว แต่ที่ไม่ย้ายมามันก็อาจเป็นสิ่งที่รู้สึกว่า ไม่ใช่สำหรับเขา”
ปลุกไฟโปรเพลย์เยอร์ RoV
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าหมายของนักเล่นเกมส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางคือ โปรเพลย์เยอร์ หรือนักแข่งเกมอาชีพ โดยเฉพาะการเติบโตของวงการเกมในไทย หลายทีมอีสปอร์ตมีสปอนเซอร์คอยสนับสนุนอย่างจริงจัง มีเงินเดือน มีแฟนคลับติดตามใกล้ชิด
ซึ่ง ไมค์ เป็นหนึ่งในคนที่อยากลองก้าวไปสู่ตำแหน่งโปรเพลย์เยอร์ดูบ้าง เขามองว่า นี่คือความเท่ห์ที่อยากจะเป็น
“ตอนแรกที่เข้าวงการ Rov ผมคิดว่าทุกคนอยากเป็นโปรเพลย์เยอร์ เพราะมันเท่ห์ ผมก็ไปลองเหมือนกัน รวมทีมกับเพื่อนไปสมัครลงแข่ง แต่สุดท้ายตกแค่รอบสอง แต่แข่งจริงจังแบบนั้นทำให้เรารู้ว่า มันมีความตึงเครียด ซึ่งมันไม่ใช่ในแบบของเรา ผมชอบการเล่นให้สนุก”
“ถ้าเป็นโปรเพลย์เยอร์ ความสุขอาจเป็นการเอาชนะ แต่ความสุขสำหรับผมมันไม่ใช่เอาชนะ แต่มันอยู่ในระหว่างทางที่เล่นว่า เราสนุกกับมันหรือเปล่า การชนะมันเป็นแค่ของแถมเท่านั้น”
เมื่อโปรเพลย์เยอร์ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ไมค์ ตัดสินใจกลับมาเอาดีด้านการทำคอนเทนต์ Youtuber ก่อนจะขยับเป็น Streamer กับเกม RoV ชื่อของ ไมค์ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่วันหนึ่งจุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อตัดสินใจหาความท้าทายใหม่ในบทบาทนักพากย์เกม
นี่คืออาชีพที่ ไมค์ ยอมรับว่าไม่เคยมีความคิดอยากเดินบนเส้นทางนี้มาก่อน แต่เมื่อโอกาสมาถึง เขาได้พบกับความท้าทายที่น่าดึงดูด และเป็นจุดเริ่มต้นของนักพากษ์นาม “ใจร้าว”
นักพากย์โนเนม
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ นักพากย์ ในวงการเกมเป็นบทบาทที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่โปรเพลย์เยอร์มากกว่า ดังนั้นนักพากย์เกม จึงเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆเท่านั้น แต่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้การแข่งขันสนุกเร้าใจ ได้อรรถรส มีสีสันเพิ่มขึ้น
สำหรับ ไมค์ อาชีพนักพากย์คือความใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เขาไม่เคยรับรู้ถึงความน่าสนใจของอาชีพนี้ แต่เมื่อได้โอกาสทำความเข้าใจ ทำให้เขาได้เห็นถึงความสำคัญของอาชีพนี้ ก่อนจะตัดสินใจเริ่มต้นเป็นนักพากย์ดูบ้าง
“หลังสตรีม RoV ผมอยากมีชื่อในวงการ มีเพื่อนแนะนำว่า เดี๋ยวจะมีจัดแข่งทัวร์นาเมนกันเองใน Garena เลยถามอยากลองมาพากษ์ดูไหม ผมก็สนใจเพราะคิดว่า ถ้าได้พากษ์ใน Garena อาจจะดังก็ได้เลยลองดู”
“ผมไม่เคยคิดเลยจริงๆว่าตัวเอง อยากเป็นนักพากษ์ ความรู้ของผมตั้งแต่เข้าวงการเกมถือว่าน้อยมาก ผมรู้แค่มีนักแคสเกมกับนักแข่งเท่านั้น แต่พอเข้ามาแล้วทำให้รู้ว่ามันมีอาชีพแบบนี้ด้วยนะ ผมรู้สึกว่า มันเท่ดีเลยลองทำดู ผมเริ่มทำ เพราะมองว่ามันเท่แค่นั้นเลยจริงๆ”
“ลองคิดภาพสิ คนอื่นกำลังแข่ง แต่มีเสียงเราที่กำลังพูดให้คนเป็นหมื่นเป็นแสนฟัง มันเจ๋งมากเลยนะ…”
สำหรับ ไมค์ นักพากย์เกมกลายเป็นความแปลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความเท่ห์ มีเสน่ห์ และท้าทาย แต่การเริ่มต้นครั้งนี้กลับทำให้เขารู้สึกแย่จนเกือบหันหลังให้วงการเกม…
กลับไปสตรีมเหมือนเดิมไป ไอ้..#@*&
“ผมเคยเจอสิ่งที่ทำให้ถึงขั้นไม่อยากทำงานในวงการเกมแล้ว” ไมค์ เริ่มเล่า
“ตอนนั้นรู้สึกแย่มาก ผมรู็ว่า ผมเป็นมือใหม่ผมพยายามทำเท่าที่ทำได้ แต่กลายเป็นว่า พากย์ครั้งแรกเจอคนด่าเยอะมาก ด่าพ่อมึงตายบ้าง สารพัด ซึ่งด่ากันหยาบมาก ผมคิดว่า เราไปทำอะไรให้เขาไม่ชอบขนาดนั้นเลยเหรอ ผมจำได้วันแรกตื่นเต้นมาก สั่นเป็นเจ้าเข้า ที่จะได้พากย์ใน Garena ตอนนั้พากย์ในห้องอัด ไม่ได้พากย์สด เหมือนเป็นแมตช์ย้อนหลังแล้วเอาไปลงยูทูบ”
“ผมพากย์ไม่ได้ เพราะมันตื่นเต้น พูดสกิลไม่รู้เรื่องผิดๆถูกๆ คิดอะไรไม่ออก รู้สึกเล่นว่าวันนั้นตัวเองทำได้ไม่ดี แต่มันก็ไม่ดีถึงขนาดต้องมาด่ารุนแรงแบบนั้น 90% ของกระแสตอบรับในวันนั้นคือคำด่าอย่างเดียว จะอะไรขนาดนั้นจะเอาตายให้ได้ คำที่เจ็บสุดคือ เขาไล่ผมไปตาย มึงไปเลยไม่ต้องกลับมาอีกแล้ว กลับไปสตรีมเหมือนเดิมเถอะ พากย์…ชิบหาย ด่าหยาบมาก”
“…วันนั้นผมร้องไห้น้ำตาคลอ คิดในใจวงการนี้มันหนักถึงขนาดนี้เลยเหรอ”
จากกระแสตอบรับกลับมาทำให้ความคิดที่จะไปต่อในวงการเกมหยุดชะงัก คำวิจารณ์ด้านลบยังคงติดอยู่ในใจ และเกือบทำให้ ไมค์ ถอยออกจากวงการ แต่เขารู้ดีว่า หากยอมแพ้ในวันนี้ เขาจะไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็นอีกต่อไป
“ผมรู้สึกแย่มากๆ แต่รู้ว่า ถ้าตัดสินใจถอยออกมาก็ต้องกลับไปทำงานกับที่บ้านเหมือนเดิม ไม่ได้เดินในจุดนี้ต่อไปแน่ๆ ฉะนั้นเรื่องของการยอมแพ้มันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับผม”
ไมค์ เปลี่ยนความรู้สึกที่ดีต่อคำวิจารณ์เป็นแรงผลักดันเพื่อพัฒนาตัวเอง เขาทำงานหนัก เตรียมข้อมูลให้เยอะที่สุด พยายามศึกษาวิธีการของนักพากย์คนอื่นๆที่มีชื่อเสียงมาปรับใช้กับสไตล์ของตัวเองตลอดเวลา
“ผมมีไอดอลในวงการนักพากย์เยอะมาก RoV ด้วยกัน อย่าง Winzy , เฮียโก้ , SunWaltz กับอีกหลายๆคน เพราะถือได้ว่า เป็นกลุ่มคนที่เริ่มพากย์ของวงการนัก RoV ผมศึกษาสไตล์การพากย์ของแต่ละคน ดึงข้อดีของคนๆนั้นมาปรับปรุงใส่ในการพากย์ของเรา”
“จนถึงตอนนี้ผมไม่อาจไปเทียบรัศมีของพวกพี่ๆเขาได้หรอก แต่วันนี้ก้าวมาอยู่ในจุดเดียวกันได้ก็ใจแล้ว จากคนที่พยายามไต่เต้ามาตลอด วันนี้ได้มาจุดเดียวกันรู้สึกดีใจ เรามองพวกเขาเป็นไอดอลมาตลอด ผมดีใจมากที่ได้พากย์กับพวกเขา”
จากนักพากย์หน้าใหม่ที่มีแต่คนรุมด่า ว่าร้ายสารพัด ไมค์ ไต่บันไดทีละขั้น กระทั่งวันนี้ เขากลายเป็นนักพากย์ที่ได้รับการยอมรับในวงการอย่างเต็มภาคภูมิ ชื่อของ “ใจร้าว” เป็นที่ถูกจดจำในฐานะนักพากย์ที่มีสไตล์สนุก เฮฮา กวนๆ ได้พากย์รายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง ROV ProLeague ยิ่งทำให้มีแฟนๆติดตามผลงานของเขาไม่ขาดสาย
กฎเหล็ก “ใจร้าว” พากย์แล้วต้องสนุก ต่อให้เกมน่าเบื่อ
ไมค์ ต้องทำการบ้านเพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับงานพากย์อยู่เสมอ ศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้วยตัวเองเพื่อให้มีความแตกต่าง และดึงดูดความน่าสนใจต่อผู้ชม นอกจากนี้เขายังตั้งกฎเหล็กของตัวเองเพื่อให้การพากย์มนแบบฉบับ “ใจร้าว” อัดแน่นไปด้วยความสนุก นั่งฟังกี่ชั่วโมงก็ไม่มีเบื่อ
“ในการพากย์ครั้งหนึ่ง ผมต้องหาข้อมูลเยอะมาก ต้องหาข้อมูลทั้งสองทีมที่แข่งว่า ในแมตช์ที่ผ่านๆมาเขามีผลงานเป็นอย่างไร มีช็อตพลิกเกมแบบไหน หยิบฮีโร่ หรือใช้แผนอะไรมาเล่น ศึกษาผู้เล่นทั้งสิบคน ว่าเขาชอบหยิบฮีโร่ตัวอะไร ถ้าคนนี้หยิบฮีโร่ตัวนี้จะมีโอกาสแ้ชนะอย่างไรได้บ้าง ต้องศึกษาว่า ภาพรวมทั้งสองทีมมีอะไรที่น่าสนใจ”
“กฏการเป็นนักพากย์สำหรับผม ไม่ว่าเกมจะน่าเบื่อขนาดไหนเราห้ามเบื่อตามเกม นี่คือสิ่งที่ผมคิด เพราะบางแมตช์อารมณ์เหมือนไม่สนุก ยังไม่ทันเริ่มก็สัมผัสได้ว่า คู่นี้ยังไงก็ไม่สนุก ไม่สู้แน่นอน น่าจะไม่มีอะไร แต่เราก็ต้องพยายามหาว่า เขามีจุดไหนที่น่าดึงมาพูดให้คดูเห็นว่า มันก็ไม่ได้แย่นะ”
“ผมพยายามหาอะไรมาพูดให้คนดูรู้ว่า คู่นี้ไม่ได้น่าเบื่อ เราต้องรับผิดอบในสิ่งที่เราทำ รับผิดชอบให้ดีที่สุด ไม่ใช่เบื่อแล้วก็ปล่อยผ่านไป ความท้าทายของงานนี้คือ พากย์ยังไงให้คนดูไม่ด่า ผมเคยโดนกระแสลบเยอะ เพราะเป็นมือใหม่ สไตล์เราไม่เหมือนใคร บางคนไม่ชินกับการพากย์ของผมเป็นธรรมดาที่มีทั้งชอบ และไม่ชอบ ฉะนั้นความท้าทายคือ การทำให้คนยอมรับในตัวตนของเรา”
“ทำให้คนรู้ว่า เราคือนักพากย์ใจร้าวนะ ต้องทำให้เขายอมรับ ถ้ายังมีคนด่า แต่มีคนชอบเราเท่านี้ก็โอเคแล้ว”
นักพากย์ – Streamer ทางเดินที่ต้องเลือก
ขณะที่เส้นทางนักพากย์กำลังไปได้สวย แต่ลึกๆ เขารู้ดีว่า สิ่งที่ทำอยู่ยังทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร เพราะเขาเป็นทั้ง Streamer และนักพากย์ในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ทั้งสองสิ่งเสียสมดุลในแบบที่ควรเป็น
ในศึก ROV ProLeague Summer 2020 คือช่วงเวลาที่ ไมค์ ตัดสินใจถอยจากการเป็นนักพากย์ ซึ่งสร้างความแปลกใจให้คนที่ติดตามผลงานของเขาไม่น้อย
“ตอนนั้นมันอยู่ในจุดที่เราต้องเลือกระหว่างการเป็น Streamer กับ นักพากย์ อย่างที่ผมบอก ผมเริ่มต้นมาจากการเป็น Streamer ผมคนเดียวที่จับสองอาชีพนี้ไปพร้อมกัน วันๆหนึ่งพากย์เสร็จ 5 ทุ่มกลับบ้านถอดสูทแล้วไปสตรีมต่อ ผมบอกคนดูอาจพูดไม่เยอะนะ แต่เขาก็ยังกรุณาดูผม”
“พอมันถึงจุดที่ต้องเลือก เราไม่สามารถสตรีมกับทำงานพากย์ไดด้เต็มที่ เพราะทั้งสองอย่างต้องเตรียมตัวเยอะมากๆ บางคนมองว่า สตรีม 2-3 ชั่วโมงไม่เห็นต้องเตรียมอะไรเยอะเลย แต่บอกเลยว่าการสตรีมมันเสียพลังงานไม่ต่างกับงานประจำ 6-7 ชั่วโมง เหนื่อยมาก พอพรุ่งนี้ต้องพากย์ทำให้เตรียมข้อมูลไม่ทัน เหนื่อยคิดอะไรไม่ออก ไม่สุดสักทาง”
เมื่อความเหนื่อยบวกกับความรู้สึกที่ไม่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เต็มที่ ทำให้เขาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างการเป็น Streamer หรือเดินบนเส้นทางนักพากย์ต่อไป
“ผมคิดว่า ถ้ายังจับปลาสองมือแบบนี้มันเหนื่อยเกินไป มีแต่ความเครียด พอเครียดคนดูก็หาย พากย์ก็โดนด่าเพราะเตรียมข้อมูลไม่ดี ผมกลับมานั่งคิดว่า เราต้องเลือกสัทางใดทางหนึ่ง สุดท้ายผมเลือกเป็น Streamer เพราะเป็นสิ่งที่เราฝันมาตลอด จริงๆวงการนักพากย์กำลังโตด้วย แต่ผมคิดว่า เราเลือกแบบนี้ดีกว่า”
การตัดสินใจเป็น Streamer เต็มตัวในครั้งนี้ ช่วยผ่อนคลายความเครียด และทำให้ ไมค์ รู้สึกสนุกกับสิ่งที่ทำอีกครั้ง ไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่เต็มที่ ทุกๆวัน ไมค์ สนุกกับการสร้างคอนเทนต์ และพูดคุยกับแฟนๆที่เข้ามาดูเขาอยู่เสมอ แม้จะต้องพักจากการเป็นนักพากย์ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเลวร้าย เขายังคงมีความสุขกับสิ่งที่ทำในทุกวัน
สู่ Streamer เต็มตัว
ไมค์ มุ่งสู่การเป็น Streamer เต็มตัว โดยได้เปิดเผยถึงที่มาของชื่อ ใจร้าว ที่เขาใช้มาตลอดว่า “ที่ต้อง ใจร้าว เพราะผมอยากได้ชื่อภาษาตอนเล่น DOTA2 แล้วนึกออกขึ้นมาพอดีว่า ร้าวๆ ก็เลยเอาเป็นใจร้าว เพราะดูแบบเป็นชื่อที่ฮา แล้วดูเป็นชื่อคนที่สุดดีครับ”
Streamer คือสิ่งที่เขาชื่นชอบ และเป็นของถนัด ทำให้ ไมค์ หรือ ใจร้าว มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจให้แฟนๆได้ติดตามรับมชมอยู่เสมอ แม้ในการ Stream หนึ่งวันต้องใช้พลังและเวลาค่อนข้างเยอะ แต่เขาไม่รู้สึกเครียดเมื่อตอนจับงานพากย์กับสตรีมไปด้วย เพราะนี่คือสิ่งที่เลือกแล้วว่าดีที่สุดสำหรับเขา
“ตอนสตรีมแรกๆ ผมยังพากย์อยู่นะ ความสนุกของการเป็น Streamer อยู่ตรงที่เราได้คิดว่า วันนี้จะเล่นอะไรดี นำเสนออะไรดี คนดูจะสนุกไหม วันนี้คนเยอะต่อมาคนน้อยเพราะทำไม่ดีหรือเปล่า บางคนมองว่า Streamer ก็แค่เล่นไปวันๆ แต่ถ้าไปลองดูคนที่เขามีคนติดตามเยอะ จะรู้ว่าไม่มีใครที่เล่นไปวันๆ”
“ตอนผมสตรีมแรกๆ เริ่มจากชวนเพื่อนมาเล่นเน้นเฮฮาปกติ เพราะเล่นกับเพื่อนยังไงก็ออกมาสนุกแต่ดันมีคนเข้ามาดู 10-20 คน เขาบอกสนุกแถมมาโดเนทให้แล้วขอเล่นด้วย ไม่มีกระแสวิจารณ์แย่ๆเลย เพราะเราไม่ดัง จากที่เคยมีแต่ความกดดัน มันไม่มี”
“ผมเป็นสไตล์เฮฮา โวยวาย ไม่อยากเครียด เต้นโชว์บ้าง เราไม่ได้เน้นว่า เรามีฝีมือเก่งอะไร เพราะจุดขายคือ คนมาดูแล้วต้องไม่เครียด เป็นกันเองกับคนดู ให้คนดูมีส่วนร่วมด้วยการตอบคอมเมนต์ บางทีก็ไปดู Streamer ต่างประเทศว่า ทำไมเขาขึ้นไปอยู่ระดับโลกได้ พยายามปรับไปเรื่อยๆว่า จุดนี้เรายังเป็นตัวเองได้อยู่ไหม แต่ไม่ใช่ไปก็อปเขามานะ ต้องศึกษาแล้วนำมาปรับใช้”
Streamer กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้ ไมค์ อย่างมาก เดิมที นี่คืออาชีพที่เขาฝันมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจออกจากธุรกิจที่บ้าน และก้าวเข้าสู่วงการเกม ทุกๆวันจึงไม่ใช่การทำงาน แต่เป็นการมอบความสุขให้กับตัวเอง และผู้คนที่เข้ามาชมการสตรีมของเขา
“ความสนุกของผมในการเป็น Streamer คือเล่นอะไรก็ได้ให้คนดูสนุก การโยนเกมก็เป็นสิ่งหนึ่ง มันเหมือนการทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่ความเก่งแต่เพราะมันฮา และคลายเครียด”
“ส่วนตัวผมชอบเล่นแบทแทน (ฮีโร่ตัวหนึ่งใน RoV ที่มีพลังโจมตีรุนแรง) ผมเคยทำคอนเทนต์ด้วยแบทแมนที่ไต่ไปถึงอันดับหนึ่ง ถ้าถามว่า ฮีโร่ตัวไหนเล่นไม่ง่าย และท้าทายก็มีว่า แบทแมน นี่แหละ ผมเป็นคนเล่นกวนๆ ซึ่งแบทแมนมันมีสกิลหายตัวได้ ใส่ทีเดียวตายได้ หากพลาดก็ล้มเองผมเลยมองว่านี่แหละท้าทายจริงๆ”
“จริงๆ แบทแมน เป็นฮีโร่ที่ไม่ได้เก่งนะ แต่ก็เอามาเล่นกลายเป็นว่า ผมชอบผมเล่นฮีโร่ตัวนี้ แล้วผมก็เคยใช้แบทแมนไต่ไปอยู่อันดับ 38 ของประเทศ มาแล้ว”
ไมค์ เล่าถึงการสตรีมของเขา ด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความสุข เขารู้ดีว่า เวลานี้ตัวเองได้อยู่ในจุดที่ต้องการ รักษาความสมดุลได้ ไม่เครียด ไม่เหนื่อยเกินไป ทำให้ทุกอย่างลงตัว
แม้จะไม่ได้พากย์เกมจริงจังในรายการใหญ่ แต่การสตรียมของ ไมค์ ยังคงตัวตนของ “ใจร้าว” ที่พากย์สนุก ครบทุกรสชาติ และชวนให้คนดูเข้ามาเสพคอนเทนต์ที่เขาสร้างขึ้นในฐาน Streamer อยู่เสมอ
อนาคต MOBA และการเดินทางของ “ใจร้าว”
ปัจจุบันวงการ MOBA ยังคงได้รับความนิยม และมีพัฒนาการต่อยอด โดยล่าสุด Wild Rift เป็นอีกหนึ่งเกม MOBA ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน ซึ่งในมุมของ ไมค์ มองว่า นี่คือเกมที่รวมความเป็น MOBA บนคอมพิวเตอร์ผสมเกมในมือถือได้อย่างลงตัว
“ผมมองว่า Wild Rift เป็นเกมที่ท้าทาย อย่างผมเริ่มเล่น MOBA มาจาก Dota ซึ่ง Wild Rift เหมือนพาเราย้อนกลับไปสู่จุดนั้นอีกครั้ง แต่ก็ยังมีความเป็นเกมมือถืออยู่ เราโหยหาอยู่แล้วกับความรู้สึกเหมือนตอนเล่น Dota ซึ่งเกมนี้มันมารวมความเป็น MOBA บนคอมกับมือถือ ทำให้ดูลงตัวเกิดเป็นความสนุก”
“ถ้ามองในมุมของการพากย์ หากพากย์เกมนี้เสน่ห์ของ Wild Rift ต้องบอกว่า อารมณ์ของเกมมันต่างกัน Wild Rift สกิลว่องไว ส่วน RoV ไม่ยาก แต่ก็ไม่เวอร์เกินไป มันมีความแตกต่างกันอยู่ แต่ก็ลงตัวเหมือนที่บอก”
“วงการ MOBA บ้านเราค่อนข้างโต ตั้งแต่ RoV เข้ามามันเติบโตเยอะมาก แต่ประเทศอื่นไปไกลแล้ว ในไทยเพิ่งเริ่มจริงจัง ผมหวังว่า Wild Rift จะทำให้วงการเราต่อยอดไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม ไม่อยากให้ดังแค่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่ในไทยต้องดังด้วย”
กระแสของ Wild Rift ได้รับความสนใจไม่น้อย ซึ่งตัวไมค์ เองมองว่า เป็นเรื่องดีที่จะกระตุ้นให้วงการ MOBA ในไทยเติบโตต่อเนื่อง แต่เขายังคงผลิตคอนเทนต์ด้วยเกม RoV เป็นหลัก
ปัจจุบัน ไมค์ เป็น Stream ในสังกัด Online Station เขายอมรับว่า การร่วมงานกับ Online Station ช่วยเพิ่มความรู้ ประสบการณ์ และวิธีสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้ดียิ่งขึ้น
“ทาง Online Station มีช่วยเป็นที่ปรึกษาเพื่อจัดการเรื่องงานต่างๆ รวมไปถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์ และวิธีการเพิ่มรายได้ในทั้งในแฟนเพจ และช่องยูทูบ ที่ตอนนี้กำลังเติบโต”
“ที่สำคัญคือ ผมสามารถพูดคุยได้เหมือนกับเป็นเพื่อน เป็นพี่น้อง กัน เลยทำให้สามารถปรึกษาได้อย่างสบายใจ”
นอกจากนี้ ไมค์ ยังทิ้งท้ายถึงการติดตามผลงานของเขา ที่แม้จะไม่ได้เป็นนักพากย์เกม แต่เขายังคงผลิตคอนเทนต์ของตัวเองในแบบ “ใจร้าว” ให้แฟนๆได้ติดตาม และหายคิดถึงอยู่เสมอ
“ตอนนี้สามารถตามได้ทางช่อง Youtuber ใจร้าว ส่วนใหญ่จะสตรีมในเฟซบุ๊ค JAI RAW ใจร้าว ส่วนคลิปก็ลงทูป ตอนนี้ก็มี Tiktok กับ อินสตาแกรม เพิ่มเข้ามา ผมยังคงสร้างคอนเทนต์ให้คนดูอยู่เรื่อยๆครับ แต่ถ้าถามว่าผมจะยังสตรีมไปอีกนานแค่ไหนน่ะเหรอ”
“อืมม… ก็คงจนกว่าจะไม่มีใครมานั่งดูผมนั่นแหละ” ไมค์ กล่าวปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ