“มันเป็นความรู้สึกที่ชีวิตนี้ผมจะไม่มีวันลืม เพราะเหมือนได้แก้ไขสิ่งที่เคยทำพลาดไว้”

เพลเยอร์วัย 19 ปี ตอบคำถามแรก เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกในวันที่กำลังจะได้เล่น The international 10 (TI10) สังเวียนแห่งความฝันของผู้เล่น Dota 2 ทั่วโลก ที่จะชิงความเป็นหนึ่งของเกม MOBA แห่งยุคกับทัวร์นาเมนต์ที่มีเงินรางวัลสูงที่สุดในโลก(1,249,280,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน)

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปี ก่อน ทรี – หนึ่งนรา ธีรมหานนท์ หรือ 23savage โปรเพลเยอร์ Dota 2 ของไทย ตัดสินใจขอคุณแม่ออกจากโรงเรียนเพื่อตามล่าความฝันเป็นแชมป์โลก Dota 2 ถูกพูดถึงในวงกว้าง แต่เขาต้องผิดหวังกับคำว่า กำแพงมืออาชีพ เขาเคยผิดหวัง เคยโดนขับออกจากทีม เคยอกหักพลาดโอกาสไปเล่นในศึก TI9

แต่วันเวลาผ่านไป เขากลายเป็นคนไทยไม่กี่คนที่ได้เล่นให้ทีมชั้นนำของเอเชีย ได้ปะทะฝีมือกับบรรดายอดทีม Dota 2 จากทั่วโลก พิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับจากผู้คนที่เคยดูถูกเขา พร้อมกับทำฝันแรกที่เคยปักธงไว้ตั้งแต่วันที่ตัดสินใจยอมทิ้งชีวิตวัยเด็กเพื่อเป็นโปรเพลเยอร์สำเร็จ นั่นคือโอกาสเข้าร่วม TI10

แต่ระหว่างทางเดินที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้ว่า เขาต้องเสียน้ำตา เสียหยาดเหงื่อไปเท่าไหร่เพื่อแลกกับความสำเร็จ และในวันนี้เขาแบกความกดดัน ความคาดหวังในฐานะเพลเยอร์คนไทยที่จะโชว์ฝีมือในเวทีระดับโลก

เขามีมุมมองความคิดอย่างไรกับทางเดินที่เลือก และกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตบนวัย 19 ปี 

ปฐมบทบนเส้นทางสายเกมเมอร์

23savage

จากจุดเริ่มต้นที่เล่นเกมเพื่อความสนุกสนานเหมือนกับเด็กๆทั่วๆไปในวัยเดียวกันและรายชื่อเกมที่เล่นก็ตามสมัยนิยมในตอนนั้นอย่าง Maple Story, Getamp และ Dota ในเวอร์ชั่นแรกจนมาถึง Dota2 ที่ทรีในตอนนั้นรู้สึกว่าเกมนี้มีบางอย่างที่ใช่

“ไม่เคยคิดเลยครับ ตอนแรกที่เริ่มเล่นเกม ผมไม่ได้คิดอะไรเลย ตอนเด็กๆผมเล่นเกมเพราะว่า มันสนุกเฉยๆ ผมเริ่มเล่น Maple Story เป็นเกมแรกแล้วก็ Getamp แล้วพี่ชายก็ชวนเล่น Dota 1 จริงๆก็เล่นหมด แต่พอเป็น Dota 2 รู้สึกว่า เกมมันสมดุลดี”

“ผมคิดว่า โปรเพลเยอร์ Dota 2 เขาฝีมือเทพดี ผมได้เห็น Miracle กับ Arteezy ที่เก่งๆ ผมอยากเป็นแบบนั้นบ้าง จุดเริ่มต้นก้าวสู่มืออาชีพคือความอยากชนะทุกอย่าง ผมตั้งใจเล่น เพราะคาดหวังแค่อยากชนะ เท่านั้น”

“ผมมีไอดอลอยู่สองคนคือ Miracle กับ Ana ที่รู้สึกว่าเป็นไอดอล เพราะเขาฟอร์มดีตลอด ตอนเริ่มเล่นผมไม่เคยคิดเลยว่าจะได้มาเจอ Miracle อยู่ใน Stage เดียวกัน ผมภูมิใจในตัวเองมากๆ และดีใจที่สิ่งที่เราทำตั้งแต่แรกๆมันมีผล ก็รู้สึกคิดถูกครับที่วันนั้นตัดสินใจแบบนั้น” ทรีย้อนความ

เกมเมอร์แทบทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับไหนนอกจากมีชื่อบนบัตรประชาชนและพาสสปอร์ตที่ทางการรู้จักแล้วพวกเขาจะต้องมี IGN (In game Name) หรือถ้าเป็นสายแร็ปเปอร์ก็คือ AKA (also known as) ซึ่งชื่อ 23savage ที่เป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ได้มาจากแร็ปเปอร์คนโปรดอย่าง 21 Savage ก่อนเติมเลข 3 ลงไปแทนที่เลข 1 ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายว่าเลข 3 มาจากไหน

“ตอนเริ่มเล่นใหม่ๆผมคิดชื่อไม่ได้ แต่ช่วงนั้นรายการแข่งแรป Rap is now กำลังบูม ที่โรงเรียนจะมีไมโครโฟนอยู่หน้าห้อง ผมกับเพื่อนก็ต่อแร็ปด่ากัน เพื่อนให้คิด AKA มา ผมก็ชอบฟัง 21 Savage อยู่แล้ว ตอนนั้นเพลง Bank Account กำลังดังก็เลยเปลี่ยนเป็น 23savage มันเป็นตัวเลขแล้วดูใกล้กันดี”

“ส่วนเพลงที่ตรงกับชีวิตผมคงเป็นเพลง A lot เนื้อหาของเพลงมันหลากหลายเรื่องราวที่มีทั้งคนชอบ และไม่ชอบ ไม่หวังดีกับเราเหมือนทุกอย่างมันมีสองด้านเสมอ”

ทางแยก

เมื่อมาถึงจุดหนึ่งการรับผิดชอบหน้าที่สองอย่างอาจจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไปและจำเป็นที่จะต้องเลือกระหว่างตั้งใจเรียนไปตามปกติเหมือนเด็กคนอื่นทั่วๆไปหรือจะเลือกลุกขึ้นมาไล่ตามความฝันที่ยังมองไม่เห็นเป็นรูปร่าง มีก็เพียงแต่ความมั่นใจในฝีมือของตัวเองเท่านั้น

“ผมรู้ตัวเองตั้งแต่ช่วงเรียนม.3 ตอนนั้นผมเรียนไม่ได้ เบื่อทุกอย่างไม่มีความสุขเลยสักวิชา มันเลยไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากอะไรที่เลือกเส้นทางโปรเพลเยอร์ เพราะตัวผมไม่ได้อยากเรียนอยู่แล้ว ที่บ้านคุณพ่อกับคุณแม่เขาก็เหมือนผู้ปกครองทั่วไปที่อยากให้ใส่ใจเรื่องเรียน แต่ผมเป็นคนมีอุดมการณ์ชัดเจน ผมเชื่อตัวเองที่สุด ผมจึงมั่นใจกับสิ่งที่ผมเลือก”

“จริงๆการเรียนของผมก็ไม่ได้ดีมาก ตอน ม.1-2 ผลการเรียนดี แต่พอขึ้น ม.3 มีการบ้านเยอะ ผมเล่นเกมเยอะขึ้นด้วยผลการเรียนก็เลยไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่ก็พอเอาตัวรอดได้”

และสิ่งที่ทำให้ทรีตัดสินใจเลือกทางเดินนี้เพราะเชื่อมั่นในฝีมือของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม

“เพราะผมรู้สึกว่า มันจะไม่มีทางผิดหวัง ตอนนั้นผมคิดว่า ผมเล่น Dota 2 เก่งมาก วันที่ตัดสินใจ ผมไม่มีแผนสำรองไม่มีอะไรทั้งนั้น ผมมั่นใจมากๆ เพราะ MMR ผมเยอะมาก(ทำ MMR 6,000 ตอนอายุ 15 ปี) หากเทียบกับคนอื่นทั้งที่อายุน้อย ผมคิดว่า ต่อให้เรียนก็ไม่รอดอยู่ดี แต่ถ้าผิดหวังก็คงกลับไปเรียนทนสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยเอกชน แต่ต่อให้เรียนจบมาก็คงไม่รู้จะทำอะไรอยู่ดี”

แน่นอนว่าการที่เด็กคนหนึ่งเดินเข้าไปคุยกับผู้ปกครองว่าต้องการออกมาเล่นเกมแบบเต็มตัวคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะได้รับการยอมรับ แต่โชคดีที่คุณแม่ กินรา ธีรมหานนท์ เข้าใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่แม้ว่าตอนแรกจะไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก แต่จุดเปลี่ยนจากการคว้าเงินรางวัลก้อนเล็กๆจากการแข่งที่อาจจะไม่ได้มากมาย แต่ก็ทำให้คุณแม่เริ่มมองความเป็นไปและเปิดใจยอมรับบนเส้นทางสายเกมเมอร์และกลายมาเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญทั้งเรื่องอุปกรณ์ ความเป็นอยู่ รวมไปถึงคอยให้กำลังใจในการแข่งจนกลายเป็นคนที่ดูการแข่งได้อย่างเข้าใจ

“คุณแม่มีส่วนสำคัญกับความสำเร็จของผมมากๆ ช่วงแรกแม่ก็ไม่ได้โอเคกับการตัดสินใจของผมหรอก เขาก็ให้พี่ชายพยายามมากล่อมผมให้กลับไปเรียนต่อ แต่พอถึงวันที่ผมได้เงินจากการแข่งครั้งแรกจำนวน 2,000 บาท เขาก็เริ่มสนับสนุน เริ่มจากซื้อเก้าอี้ Gaming ให้ เอาข้าวมาให้ตอนเล่น พอเขาเห็นว่าเริ่มมีอนาคตก็เริ่มสนับสนุน แล้วก็ไม่เคยมาขัดอะไรอีกเลย แต่ก็แค่ห่วงเรื่องสุขภาพเท่านั้น คุณแม่ก็ชอบมาดูการแข่งด้วยครับ จากดูเกมไม่เป็นตอนนี้เขาดูเป็นแล้ว (หัวเราะ)”

“ผมคิดว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญมากๆต่ออนาคตของเด็กคนหนึ่งที่อยากเป็นโปรเพลเยอร์ สมมติถ้าวันนั้นแม่ไม่เชื่อใจในตัวผม ผมก็คงต้องไปทางออกจากบ้านเพื่อให้ยังสามารถเล่นเกมได้ ไม่ต้องกังวลใจ แต่โชคดีที่บ้านผมอย่างพ่อเองก็ซัพพอร์ตมาตั้งแต่แรก คุณแม่จึงไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจขนาดนั้น”

“ผมคิดว่าอย่างแรกต้องดูว่า คนๆนั้นอยากจะเป็นจริงๆหรือเปล่า เขาตั้งใจจริงหรือเปล่านั่นคือส่วนสำคัญที่สุด ถ้าทำทีเล่นทีจริงก็อย่าเป็นเลย เพราะเส้นทางนี้ต้องตั้งใจมากๆ หากตั้งใจจริงก็ลองเชื่อใจเปิดใจรับฟังพวกเขาดู” ทรีฝากไปถึงคนที่ต้องการเลือกเส้นทางบนถนนของโปรเพลเยอร์เหมือนอย่างตนเอง 



ก้าวเท้าสู่สนามจริง

หลังจากที่ไต่แรงค์ MMR ได้สูงจนฟอร์มไปเข้าตา นพดล เผ่าพงษ์ประพันธ์ อดีตโปรเพลเยอร์ชาวไทย ที่เคยได้ไปแข่งขันรายการ The International หรือ TI กับทีม MiTH.Trust ในปี 2011จนถูกชักชวนให้เข้าสังกัดและเริ่มลงเล่นในรายการทัวร์ E Warrior และได้สังกัดใหม่อย่าง Hashtag แต่ก็อยู่กับทีมได้แค่ 1 สัปดาห์ก่อนต้องย้ายไปอยู่กับ Seth Gaming ดูเหมือนเส้นทางที่เขาฝันและเฝ้ารอมานานรับน้องเขาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ก้าวแรก

“ก่อนหน้านั้นมีทีมแรกที่เล่นด้วยกันคือหากันเองในกลุ่ม Dota ไม่มีระบบอะไรทั้งนั้นเหมือนเล่นเอา MMR แต่พอเข้ามาในทีมอาชีพจริงๆ ที่เขาเล่นเป็นระบบทำให้ผมยังปรับตัวไม่ได้ ไม่เข้าใจ ไม่เชื่อใจเพื่อนร่วมทีมก็เลยมีปัญหา ตัวเองก็ไม่ได้เล่นในระบบทีมได้ดีขนาดนั้น พอต้องผิดหวังผมเสียใจมาก เพราะตอนแรกคิดว่า ผมจะมีทีมสังกัดแล้ว แต่ทีมก็ตัดสินใจไม่เอาผม”

แม้ว่าประตูบานแรกจะปิดใส่หน้าของเขา แต่มันก็ทำให้ความพยายามและมุ่งมั่นมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่าอีโก้ที่ยังคงติดอยู่แต่ในที่สุดมันก็ทลายลงได้ด้วยความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมทีมซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการที่จะประสบความสำเร็จกับการเล่นเป็นทีม

“วันนั้นผมเสียใจมาก แต่ผมคิดว่า ผมคงยังไม่เก่งพอก็เลยไต่ MMR ไปเรื่อยๆให้มันเยอะขึ้น ผมพยายามเพื่อให้คนอื่นเห็นแล้วต้องเสียดาย ผมคิดว่าตัวเองต้องเก่งกว่าเดิม ตอนนั้นสิ่งที่ผมยังขาดคือความรับผิดชอบ การยอมรับในข้อผิดพลาดของตัวเอง ตอนนั้นผมไม่ยอมฟังอะไรเท่าไหร่ มีอีโก้เยอะเลย ไม่ยอมเรียนรู้ความผิดพลาด”

“แต่จุดเปลี่ยนคือตอนไปอยู่กับทีมแรกในต่างประเทศอย่าง Team Jinesbrus เพราะได้เล่นกับเพลเยอร์เก่งๆที่เขาเคยไป TI มาแล้ว เราเชื่อเขาทั้งใจเลยว่าเล่นเก่งแน่ๆ ซึ่งทุกอย่างก็ออกมาดีอย่างที่คิด”

หลังจากวนเวียนเล่นให้กับหลายสังกัดทั้งการกลับมาเล่นกับ Hashtag อีกครั้งและเล่นให้กับ Alpha Blue, Reaper, MSCerberus และ Team Jinesbrus เขาเริ่มเรียนรู้และค่อยๆเปลี่ยนแปลงตัวเองไปทีละน้อยจนกว่าจะรู้ตัวอีกครั้งก็กลายเป็นผู้เล่นที่มีความรับผิดชอบและเป้าหมายทุกครั้งที่เล่นไม่ใช่เล่นเพื่อความสนุกไปวันๆอีกต่อไป 

“ผมเปลี่ยนไปเยอะมาก ผมกลายเป็นคนที่ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องมีเป้าหมายในการเล่นทุกครั้ง และเรียนรู้จากความผิดพลาดตลอดเวลา ต่างจากตอนเล่นเพียงเพราะความสนุกที่ได้เล่นไปเรื่อยๆ ต้องใช้เหตุผลการคิดวิเคราะห์มากกว่า”

แต่บนเส้นทางนี้ก็มีสิ่งที่จะต้องแลกกับชีวิตวัยรุ่นที่อาจจะออกไปแฮงค์เอ้าท์กับเพื่อนตามประสาวัยรุ่น

“แต่ก็มีบางวันที่รู้สึกเสียดายชีวิตวัยเด็กนะ แต่ผมก็รู้สึกว่ามันคุ้มค่า เพราะมันคือความชอบของผม แต่ชีวิตวัยเด็กก็ไม่ได้ขาดหายไปขนาดนั้น เพราะยังมีคุยกับเพื่อนตลอด เพียงแค่ตอนไปเที่ยวไม่ได้ไปด้วยเท่านั้น ส่วนสังคมมหาวิทยาลัยไม่มีอยู่แล้ว เพราะผมก้าวข้ามไปแล้ว มีเหงาๆบ้าง แต่มันก็เป็นชีวิตอีกแบบหนึ่งที่เราเลือกเอง”

“สำหรับผมสูตรความสำเร็จคือต้องมีความขยัน ความรับผิดชอบ ขยัน ตั้งใจให้มากๆ ไม่เถลไถลไปทำอย่างอื่น มีสมาธิ โฟกัสกับเกม ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้ก่อนว่าอะไรสำคัญที่สุดสำหรับเรา”

พลาดโอกาสแรก

หลังจากย้ายมาร่วมทัพ Team Jinesbrus ความฝันที่จะได้ไป TI ในฐานะผู้เล่นเริ่มแจ่มชัดหลังจากที่ได้ไป TI8 ที่แวนคูเวอร์ ในฐานะผู้ชมมาก่อนแล้ว และการไปชม TI8 ถึงขอบสนามมันยิ่งเป็นการจุดไฟในตัวของเขาให้แจ่มชัดมากขึ้นและหวังว่าสักวันจะต้องได้เดินลงสนามในฐานะโปรเพลเยอร์ต่อหน้าแฟนๆที่เข้ามาชมในสนาม จนโอกาสเข้ามาใกล้จนเกือบอีกก้าวเดียวเมื่อทีมฝ่าฟันในสายล่างจนเข้ามาชิงชนะเลิศกับ Mineski ทีมแกร่งจากฟิลิปปินส์ แต่ก็พ่ายไป 3-2 ชวดโอกาสไปเล่นรายการใหญ่เทียบเท่าฟุตบอลโลกของ Dota2 

“แน่นอน TI คือสิ่งที่ผมใฝ่ฝันมากที่สุดในชีวิตทั้งตอนนั้น และตอนนี้ แต่ตอนตกรอบคัดเลือก TI9 ผมไม่ได้รู้สึกแย่ขนาดนั้น เพราะที่ผ่านมาพวกรายการคัดเลือกระดับเมเจอร์ผมยังไม่เคยคัดเลยด้วยซ้ำ รายการนี้จึงเป็นรายการใหญ่ครั้งแรกของผม ผมเลยคิดว่า ไม่เป็นไร ถ้าครั้งหน้าเรามีโอกาสอีกก็จะไม่ยอมปล่อยให้หลุดมือ”

“ตอนนั้นผมยังไม่มีอีโก้ขนาดนั้น เพราะยังไม่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน เลยทำใจได้ง่ายกับความผิดหวัง แต่ก็ช่วยสอนให้ผมเป็นคนใจเย็นขึ้นใน โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจ วินาทีสำคัญต้องตัดสินใจให้ได้ ต้องใจเย็นเวลาเล่นทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ โฟกัสเรื่องเกมให้มากๆ สมัยนั้นเวลาเล่นผมจะตื่นเต้นตื่นสนาม แต่ตอนนี้เฉยๆแล้ว”

แม้ว่าจะบอกว่าไม่ได้รู้สึกแย่ขนาดน้ัน แต่ความผิดหวังครั้งนั้นก็ทำให้เด็กวัย 17 ปีต้องหลั่งน้ำตาแห่งความเสียใจออกมาหลังจากที่พี่ในวงการที่เป็นนักพากย์ชื่อดังอย่าง แบงค์ Cyberclasher ที่ตัดสินใจโทรหาเขาทันทีที่จบเกม

“ตอนนั้นสุดจัดครับ เกมนั้นเป็นเกมที่ 4 ตอนนั้นชนะแล้ว แล้วเราเป็นคนทำพลาดก็เลยรู้สึกแย่มาก”

Jabz: ไอ้ทรีเล่นกับพี่ไหม ?

23savage Jabz

บนเส้นทางของเกม Dota2 มีหลายคนที่มีอิทธิพลกับเส้นทางชีวิตของ 23savage คงไม่พ้น อนุชา “Jabz”  จิระวงศ์ โปรเพลเยอร์ที่ก้าวไปปักธงในระดับแถวหน้าของวงการ Dota ใน SEA และเคยไป TI มาแล้ว 2 ครั้ง ได้เอ่ยปากชวนไปร่วมทัพ Fnatic ด้วยกันด้วยคำสั้นๆง่ายๆ ที่ทรีตัดสินใจตอบรับทันทีแบบไม่หลังเล แม้จะต้องย้ายไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ต่างภาษาแต่มันไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับเขาแถมภาษาอังกฤษก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเขาแม้แต่น้อย

“Jabz ถือว่าสำคัญมากๆสำหรับชีวิตผม เพราะตอน Fnatic ก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก อยู่ดีๆ Jabz ก็ทักมา เป็นช่วงที่ผมกำลังเครียดว่าจะเอาไงกับชีวิต อยู่ดีๆ Jabz ก็ทักมาเขาพิมพ์มาว่า ไอ้ทรีเล่นกับพี่ไหม แค่นี้เลย ผมก็ตอบว่า ได้พี่แล้วก็ลุยเลย ซึ่งตอนแรกผมคิดว่า คงไม่มีทีมไหนเอาผมด้วยซ้ำ ก็รู้สึกดีครับที่ได้เป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่ได้เล่นทีมต่างประเทศ ผมดีใจ และภูมิใจมาก”

“ภาษาถือเป็นสิ่งสำคัญของการเป็นเพลเยอร์มาก เพราะมีน้อยทีมมากๆที่จะเป็นทีมคนไทยทั้งหมด ต่อให้ผมไม่เล่นเกมนี้ไปเล่นเกมอื่น ผมก็คงไปหาทีมต่างประเทศเล่น เพราะสำหรับผมรู้สึกว่า ศักยภาพเขาพร้อมกว่า ตัวผมไม่มีปัญหาเรื่องภาษา เพราะเรียนอิงลิชโปรแกรมตั้งแต่อนุบาล 1 โรงเรียนแรกที่เรียนก็เป็นโรงเรียนสองภาษาทำให้ผมได้อยู่กับภาษาอังกฤษมาตลอดก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องนี้สักเท่าไร”

การเข้ามาเป็นสมาชิกของ Fnatic และได้ลงเล่นกับทีมหลายรายการและคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 5 รายการแต่ดูเหมือนว่าที่นี่จะยังไม่ใช่ที่ของเขาและทีมประกาศเปลี่ยนแปลงผู้เล่นด้วยการดึง Marc Polo Luis “Raven” Fausto โปรเพลเยอร์ชาวฟิลิปปินส์จาก Geek Fam กลับมาร่วมทีมอีกครั้งแทนที่ของเขา และการกลายเป็นผู้เล่นไร้สังกัดอีกครั้ง

ลงเอยกับ T1

23savage T1

แม้ว่าจะเป็นผู้เล่นแถวหน้าของเกมยืนยันจากการทำสถิติเป็นผู้เล่น MMR ที่คะแนนสูงแต่เขาก็ไม่รอให้โอกาสเข้ามาหากลับกันเขาต่างหากที่เป็นฝ่ายเดินเข้าหาโอกาสด้วยการเสนอตัวเองให้กับทีมอื่นๆใน SEA ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเกือบได้ไปอยู่กับ Vici Gaming ทีมดังในจีนแต่ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปร่วมทีมได้จนสุดท้ายลงเอยกับ T1 เพราะสายสัมพันธ์อันดีกับ March อดีตเพื่อนร่วมทีม Team Jinesbrusที่เคยกอดคอผิดหวังกับการไปเล่น Ti9 ด้วยแล้ว ซึ่งปัจจุบันหันมารับหน้าที่โค้ชให้ทีม T1 

“ช่วงนั้นที่ผมเซ็นสัญญากับ VG(Vici Gaming) แต่ไปร่วมทีมไม่ได้เพราะโควิด ผมก็คุยหลายทีมในตอนนั้นก็เสนอตัวเองไป แต่สำหรับ T1 มันมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด เพราะผมกับ March โค้ชของ T1 เราสนิทกันอยู่แล้ว คุยกันตลอดทุกเรื่องมีเรื่องอะไรก็ปรึกษากันตลอด”

“March เคยร่วมงานกับผม เขามั่นใจว่า เขาสามารถทำให้ผมเป็นคนที่เก่งได้ เชื่อใจ รู้วิธีใช้ผม ผมก็เชื่อมั่นเพราะเคยร่วมงานกันมาแล้ว เลยตัดสินใจ แล้วมันก็ออกมาดีอย่างที่คิด”

การย้ายไปร่วมทีม T1 แทนที่ตำแหน่งของ JaCkky แครี่จาก สปป.ลาว ย่อมเลี่ยงไม่ได้กับการเปรียบเทียบเพราะเป็นผู้เล่นในตำแหน่งเดียวกัน 

“ผมรู้สึกเฉยๆครับ เพราะผมรู้สึกว่า ผมเก่งกว่าทุกคน ผมไม่ได้สนใจว่า ใครจะคิดอย่างไร ผมเป็นคนนอกในตอนแรก ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ถ้ามีโอกาสหยิบยื่นมาก็ต้องรับไว้เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ”

“JaCkky เขาก็เป็นเพื่อนผมอยู่แแล้ว สุดท้ายเราก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง แต่ตอนนั้นก็ตึงอยู่ว่าจะเอาไงดีกับชีวิต แต่ก็ต้องเดินต่อไปลองหาทีมดู ลองหยอดถามทีมนู้นทีมนี้ว่า สนใจให้ผมเข้าทีมไหม ผมเสนอตัวเองทุกทีมเลยทั้ง TNC, Fnatic, T1 แล้วก็ BOOM 4 ทีม ผมถามไปทางผู้เล่น ได้ปรึกษากับ March(โค้ช T1) เขาก็ช่วยตลอด แต่ก่อนหน้านั้น T1 ยังไม่ว่าง”

“จริงๆผมไม่ได้คิดว่า จะต้องถูกคาดหวังจากใคร ผมแค่รู้สึกอยากชนะ ไม่ได้คิดหรือทำแทนเพื่อนคนอื่น ผมสนใจแค่ว่า หน้าที่ของผมคือต้องชนะ มันจึงไม่ได้กดดัน”

ทีม T1 หรือชื่อเก่า SK Telecom T1 ถือเป็นสังกัดอีสปอร์ตระดับแถวหน้าแม้ว่าทีม Dota2 เพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริงจังได้ไม่นาน แต่พวกเขามีชื่อเสียงในวงการนี้มาอย่างยาวนานจากการทำทีมแข่งเกม LoL ที่เป็นเกมยอดนิยมในเกาหลีใต้เกมมีผู้เล่นเจ้าของฉายาพระเจ้าอย่าง Lee Sang-hyeok หรือ Faker อยู่ในทีม ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ที่ดี แต่ทีมนี้ยังมีความเป็นมืออาชีพที่สุดตั้งแต่เคยร่วมทีมมาและจากความเป็นมืออาชีพของทีมที่จัดการให้ทุกๆอย่าง และผู้เล่นมีหน้าที่เพียงแค่ฝึกซ้อมและลงไปทำหน้าที่ของตัวเองในสนามแข่งให้ดีที่สุดเท่านั้น 

นอกจากนี้เสื้อแข่งของทีม T1 ยังมีความคล้ายกับทีมโปรดของเขาอย่างอาร์เซนอล ทีมดังแห่งศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษซึ่งทรีเผยว่าเป็นความบังเอิญที่ลงตัว

“T1 เป็นสังกัดที่ใหญ่ที่สุดที่ผมเคยร่วมทีม พวกเขามีทีมการตลาด มีทีมโซเชียล มีเดีย เรียกว่ามีทุกอย่างพร้อมสำหรับเพลเยอร์ มีความเป็นมืออาชีพมากๆ อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง เป็นทีมชั้นนำเรื่องความเป็นมืออาชีพ เพลเยอร์ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องอื่น เพราะเขาให้เราโฟกัสการแข่งอย่างเดียว”

การที่โค้ชรู้ศักยภาพของเขาและผู้เล่นคนอื่นๆเป็นอย่างดี รวมไปถึงฝีมือของผู้เล่นหลายคนที่พิสูจน์มาแล้วอย่างเช่นกัปตันทีมอย่าง KuKu ที่ก่อนหน้านี้ไปเล่น TI มาแล้ว 4 ครั้งติดต่อกัน บวกกับการฝึกซ้อมอย่างหนักจนผู้เล่นในทีมคนอื่นๆรีดศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่มันทำให้ทรีหันมามองรอบตัวและเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าเขาสามารถเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมทีมชุดนี้ได้และเคยออกมากล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้ว

“เอาจริงๆตอนเข้า T1 ผมยังไม่ได้รู้สึกเชื่อขนาดนั้นหรอกนะ มันยังมีอีโก้อยู่บ้าง ทางเดียวที่จะทำให้คนอย่างผมเชื่อในตัวคนอื่นคือ ต้องพิสูจน์ให้ผมเห็นว่า คุณเก่งจริง หลังจากนั้นเราได้ซ้อมกันเยอะ ตอนซ้อมชนะเรื่อยๆ ผมก็รู้สึกว่า เออ.. คนนั้นแบกเราได้ คนนี้แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถ Carry เราได้ ก็ต้องเชื่อใจกันมากๆ ก็เป็นความเชื่อใจที่สะสมมาเรื่อยๆ”

แต่ช่วงแรกไม่มีอะไรง่ายทั้งเจอกระแสในแง่ลบ และการไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันรายการเมเจอร์แรกของเขากับทีมในศึก ONE Esports Singapore Major 2021 ที่ยุติเส้นทางไว้แค่รอบ Wild Card โดยเอาชนะเพียงแค่เกมเดียวในเกมกับ Nigma 

“ตอนมาแรกๆผมยังโดนกระแสด้านลบนิดนึงนะ แต่ผมเฉยๆมันเป็นเรื่องของธุรกิจ พอเริ่มแพ้คนด่าเยอะ แต่ผมกำหมัดไว้ไม่เคยตอบโต้ เพราะผมอยากจะพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงาน”

“ตอนแข่งรายการเมเจอร์ของ ONE Esports  Kuku มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ผลงานของทีมเลยออกมาไม่ดีเหมือนตอนซ้อม ก่อนหน้านั้นเราซ้อมเป็นเดือน ผมคิดว่า เป็นเพราะขาดเขาทำให้ผลงานออกมาไม่ดี เพราะเขาเป็นคนที่สำคัญกับทีมมากๆ ขาดเขาเหมือนขาดหลายอย่างทั้งกัปตันทีมด้วย และคนดราฟท์ด้วย”

วินาทีที่ไม่มีวันลืมของ 23savage

หลังจากปรับจูนกับทีมมาซักระยะเหมือนว่าทีมค่อยๆเล่นกันได้ลงตัวมากขึ้นหรือพูดง่ายๆว่า “จูนกันติด” ทำให้คว้าแชมป์ Dota Pro Circuit 2021: Season 2 – Southeast Asia Upper Division ได้แต้ม DPC500 คะแนน ขยับเข้าใกล้การไปเล่น TI10 แค่เอื้อมเท่านั้น และรายการต่อมาคือศึก WePlay AniMajor ที่กรุงเคียฟประเทศยูเครนแน่นอนว่าเป้าหมายที่ทุกคนมองไว้คือไปให้ไกลที่สุด

แต่ผู้เล่น T1 รู้ดีเต็มหัวใจว่าแค่เอาชนะ Team Aster ให้ได้ในเกมแรกของรอบน็อคเอ้าท์คะแนน DPC ของพวกเขาก็จะดีพอที่จะได้เล่น TI10 แล้ว และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆทีมทำได้ตามเป้าด้วยการเอาชนะได้ตามเป้าซึ่งทรีไม่เคยลืมโมเมนต์แห่งความดีใจในครั้งนั้น

“มีความสุขมากๆ เป็นโมเมนต์ในชีวิตที่จะไม่ลืมเหมือนเราได้แก้ไขอดีตที่เราเคยทำพลาดไว้ พอมีโอกาสอีกครั้งเรากลับมาคว้ามันไว้ได้ มันก็เลยรู้สึกดีมากๆ ตอน TI9 กับ TI10 ต่างกันเยอะมากในเรื่องประสบการณ์ เพราะประสบการณ์สำคัญมากในการเล่นเกม ก็เหมือนนักรบที่ต้องผ่านสนามรบมาก่อน รบครั้งแรกก็คงยังไม่เก่งหรอก”

“แต่ถ้าเคยผ่านมาหลายครั้งก็เดี๋ยวก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ การรับมือกับความกดดันก็ด้วย ตอนตกรอบ TI9 มีคำสบประมาทเหมือนกัน แต่ผมไม่ได้สนใจคำเหล่านั้น พอเราทำได้ใน TI10 มันเหมือนได้ปิดปากคนที่เคยพูดไม่ดีถึงเรา แล้วคนเหล่านั้นเขาก็จะมาชมเราแทน”

ไม่ใช่แค่คว้าตั๋วไป TI10 แต่ทีมยังฟอร์มแรงต่อเนื่องหลังจากที่คว้าอันดับที่ 3 จากรายการ AniMajor คว้าเงินรางวัล 75,000 ดอลลาร์ (ราว2.4 ล้านบาท) ทีมยังก้าวไปเป็นแชมป์ ESL One Summer 2021 ด้วยการเอาชนะทีมอย่าง Vitus pro ในรอบชิงชนะเลิศถือเป็นการล้างแค้นทีมจากรัสเซียที่เอาชนะพวกเขาในรอบชิงชนะเลิศสายล่างอย่างทันควันพร้อมรับเงินรางวัลอีก (5.7 ล้านบาท) 

“ดีใจมากๆว่ากันตามตรงมันเหมือนแชมป์แรกในระดับเมเจอร์ เพราะมีทีม Team Secret, OG เต็มไปด้วยทีมแถวหน้าของโลกจริงๆ อารมณ์คล้ายชนะเมเจอร์ แค่ไม่มีทีมจีนเท่านั้น รายการนี้ทำให้ผมได้พิสูจน์ตัวเองเยอะ ตอนเล่นเมเจอร์มันเป็น Lan มันเป็นเรื่องของเวลาที่ปรับตัวยาก และมีความกดดันเล็กน้อยสำหรับผม แต่รายการ ESL เป็นออนไลน์ทุกวันก็เล่นเหมือนช่วงซ้อมทีม แข่งอยู่ในห้องผลงานจึงออกมาดี”

เลทเกม

การได้ผ่านเข้าไปเล่น The international 10 ถือว่าน่าพอใจแล้วแต่เป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ยังคงมีอยู่ทำให้การจัดแข่งขันต้องเปลี่ยนสถานที่จากที่สวีเดนไปเป็นที่โรมาเนียแถมยังต้องเลื่อนวันแข่งให้ช้าลงทำให้ส่งผลกระทบในการเตรียมตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

23savage

“การเลื่อนแข่ง TI10 ก็มีผลอยู่ ตอนแรกผมบินกลับมาไทยแล้วจะบินกลับไปซ้อมเตรียมแข่งเลย แต่การแข่งก็ดีเลย์ออกไป ส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของทีมที่กำลังดี ดีเลย์แบบนี้ก็ต้องรอซ้อมช้ากว่าเดิม ผมอยากเจอ Team Secret มากที่สุดใน TI10 เพราะตั้งแต่ซ้อมมือกันมา ผมยังไม่เคยเอาชนะพวกเขาได้เลย ผมอยากจะแก้มือในตอนแข่ง ผมเคยซ้อมมือกับ Team Secret ตั้งแต่ตอนอยู่กับ Fnatic แต่ก็ไม่เคยเอาชนะได้เลย ผมมองว่า อย่างเดียวที่ Secret มีมากกว่าคือเรื่องของประสบการณ์ แค่นั้นที่ผมรู้สึกว่าเขาเหนือกว่าทีมผม และตัวผมเอง”

“สำหรับ TI10 ผมคิดแค่ว่า ต้องเล่นให้ดีที่สุด เล่นให้เต็มที่ในแบบที่ไม่ต้องไปนั่งเสียดายวันหลัง เล่นให้เป็นตัวเองที่สุดเท่านั้นก็พอ ดึงศักยภาพทั้งหมดของเราออกมา”

แม้ว่าจะทุ่มเทกับการเล่นอย่างเต็มตัวแต่ 23 savage ก็ไม่ลืมที่จะวางแผนสำหรับอนาคตเอาไว้เพราะอาชีพโปรเพลเยอร์ของอีสปอร์ตมีอายุใช้งานที่ค่อนข้างสั้น 

“อาชีพนี้ก็จริงอย่างที่เห็นกับมุมมองที่ว่า อายุมันค่อนข้างสั้น ช่วงพีคอยู่ที่ 18-24 ปี ประมาณ 6-7 ปี แต่ผมก็ทำใจไว้แล้วก็คิดว่าจะทำอะไรอย่างอื่นต่อ ก็คงอาจจะเล่นหุ้น คาดไว้เฉยๆยังไม่ได้วางแผนไว้จริงจัง แต่ไม่ได้เอาเป็นเรื่องสำคัญ ณ ตอนนี้ เพราะจะหลุดโฟกัสจากการแข่ง ตอนนี้ผลงานการแข่งคือสิ่งที่ต้องรีบทำ อายุผมยังน้อย แต่ผมเรียนรู้เร็วกว่าคนอื่น เราต้องใช้ประโยชน์ตรงนี้ในเรื่องการแข่งให้มากที่สุด”

ไอเท็มชิ้นสุดท้าย

นับจากวันแรกที่ตัดสินใจเป็นโปรเพลเยอร์ ทรี ผ่านความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า แต่มันทำให้เขาเติบโตจนก้าวสู่ผู้เล่นแถวหน้ากับทีมชั้นนำบนเส้นทาง Dota ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า เขาคือของจริง ไม่เป็นสองรองใคร เขามีชื่อเสียง มีแชมป์ประดับผลงานส่วนตัวกับความสำเร็จตลอดเกือบ 3 ปี แต่ ณ วันนี้เขายังคงเดินหน้าลุยต่อไป เพราะชีวิตของ 23savage ยังไม่ถึงเส้นชัยที่ตั้งไว้

“ถึงวันนี้ผมคิดว่าชีวิตผมเหมือน Alchemist ฟาร์มเงินไปเรื่อยๆ จนตอนนี้ไอเทมก็น่าจะมีประมาณ BKB 5 ช่อง มี Yasha มี Blink ไว้เปิด และรองเท้า แต่ยังขาดอยู่อย่างเดียวเท่านั้น อะไรน่ะเหรอ”

“ชิ้นสุดท้ายที่ผมยังขาดไปคือโล่ Aegis ไงล่ะ…”

ขอขอบคุณ : T1 Entertainment & Sports.

อ่านเพิ่ม: Masaros : หนุ่มวัย 23 ปี ที่ทิ้งชีวิตเถ้าแก่น้อยเพื่อเป็นโปร Dota 2