หากมองชีวิตใครสักคนที่เรียนจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กับมหาวิทยาลัยเบอร์ต้นของประเทศอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงไม่ใช่เรื่องยากกับการสร้างอนาคตชีวิตที่มั่งคง และเงินทอง

ในทางกลับกันคงมีไม่กี่คนที่กล้าตัดสินใจทิ้งเงินเดือนหลายหมื่นเพื่อหันมาทำบางสิ่งทั้งที่ยังไม่มีรายได้ และไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร…

นี่คือเรื่องราวของ แม็ก – สิรภพ รัตนประทีปกร เจ้าของเพจ Lakoi DotA2 และยูทูปชาแนล Lakoi DotA2  หนุ่มดีกรีวิศวะคอมจุฬาฯ ที่หันมาเอาดีวงการเกม โดยใช้ Passion เป็นจุดเริ่มต้น เส้นทางของเขาเป็นอย่างไร ก้าวแรกของ Lakoi DotA2 เกิดขึ้นได้อย่างไร มุมมองปัจจุบันกับ Dota2 ในไทยยังไปได้ไกลแค่ไหน ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ผ่าน One Esports 

Dota เกม MOBA ในตำนาน

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ความสนุกของคนเล่นเกมคือช่วงเวลาที่ได้เข้าร้านเกมพร้อมเพื่อนเพื่อเล่น Dota ไม่ว่าจะหันไปทางไหนทุกเครื่องในร้านจะพบแต่จอสีเขียวกับเสียงหยอกล้อไล่ล่าฮีโร่ฝั่งตรงข้ามอย่างสนุก

เชื่อว่านี่คือช่วงเวลาที่หลายคนเติบโตมากับ Dota ยังคงจดจำบรรยากาศเหล่านั้นได้ดี แม็ก ผู้ก่อตั้งเพจ Lakoi DotA2 คือหนึ่งในคนที่เคยสัมผัสช่วงเวลานั้น…

“ผมเริ่มเล่นเพราะเพื่อนลากไปเล่น” แม็ก เล่าความทรงจำครั้งแรกกับ Dota ส่วนชื่อ Lakoi มีที่มาจากยุคที่เขาเริ่มเล่นเกมนี้เป็นครั้งแรก

“เพื่อนผมจับไปนั่งเล่นแล้วเลือกฮีโร่เล่นให้ จำได้เลยครั้งแรกผมเดินไปให้ป้อมยิงตาย ตัวแรกที่เล่นเพื่นกด Doom (Doom Bringer ฮีโร่สาย Strenght ใน Dota 1)สมัยนั้น Dota 1 ยังถือไม้เขียว ผมก็เล่นในร้านเกมกับเพื่อน มันมาก”

“แต่สมัยนี้หาโมเมนต์แบบนั้นไม่ได้แล้วที่ได้เฮฮากับเพื่อนในร้านเกม เราก็เป็นคนหนึ่งที่เคยผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมา ตอนนั้นผมก็ยังไม่เชิงชอบเกมนี้นะ แต่ถ้าจำไม่ผิดสมัยนั้นเกมออนไลน์ที่ดังคือ Ragnarok , Maple Story , Cabal ที่จะเก็บเลเวลแข่งกัน แต่ Dota มันเป็นอีกแนวหนึ่ง”

“จริงๆเกมแนวนั้นผมไม่ถนัด จำได้ว่าเมื่อก่อนคอมที่บ้านอินเตอร์เน็ตช้า Dota ยุคนั้นผมเล่นออฟไลน์กับบอทที่บ้านก็เล่นยาวมาเลย เล่นเอามันอย่างเดียว ผมเล่นเยอะเพราะสังคมเพื่อนด้วย”




สำหรับ Dota ไม่ใช่เกมที่ไล่สังหารคู่แข่งธรรมดา แต่ต้องรู้จักคิด วางแผน และเรียนรู้วิธีการเล่นเป็นทีมจึงจะสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ แน่นอนว่าเสน่ห์ของ Dota ที่ขาดไม่ได้คือความสนุกที่ได้รวมตัวเล่นกับเพื่อน

ด้วยความสนุก และกระแสของ Dota ในช่วงนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อกลายเป็นเกมที่ทุกคนติดกันทั่วประเทศ ความนิยมของ Dota ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ทั่วโลกต่างก็นิยมเช่นกันจนเกิดทัวร์นาเมนต์แข่งขันมากมายไล่ตั้งแต่ชิงแชมป์กันเองในร้านเกมจนถึงระดับประเทศ

“สมัยที่เล่นเยอะสุดผมเล่นทั้งวันเลย พอตื่นมาก็เล่นจนถึงเวลานอน สมัยนั้นคุย Skype กับเพื่อน 5 คนบ้าง 10 คนบ้างชวนกันเปิดห้อง 5V5 เล่นกัน ตอนนั้นผมก็เล่นเกมอื่นบ้างนะอย่าง Getamped , Pangya แต่ Dota มันเหมือนเป็นเกมที่วนเวียนมาหาเราตลอด เกมอื่นเราเลิกเล่น แต่ Dota ผมเล่นต่อมาเรื่อยๆ”

“ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยก็เลิกเล่นเกมไปสักพักหนึ่ง ผมจบวิศวะคอมฯก็ไปทำงานเขียนเว็บไซต์อยู่ครึ่งปี จากนั้นก็ออกมาช่วยธุรกิจที่บ้านแล้วก็เริ่มทำช่องไปด้วย ทำในตอนเย็นหลังเลิกงาน”

“ตอนนั้นที่เลิกเล่นเกมเพราะชีวิตไปโฟกัสเรื่องอื่น มันอยากหาเงินมากกว่า ช่วงมหาวิทยาลัยปี 3-4 ผมเล่นน้อยลง จริงจังกับชีวิตมากขึ้น บ้านผมรู้อยู่แล้วว่า ผมเอาตัวรอดเรื่องเรียนได้ ส่วนความคิดอยากทำเพจมีมานานแล้ว”

แม้มีทางเลือกหน้าที่การงานมั่นคงรวมถึงธุรกิจทางบ้านที่สามารถสร้างรายได้หล่อเลี้ยงตัวเองได้สบาย แต่สิ่งที่มีอยู่ไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงได้ เขาเลือกที่จะเดินออกมาเพื่อทำตามความฝัน

และฝันนั้นคือการสร้างเพจ และช่อง Youtube Lakoi Dota2

Lakoi Dota2

“ผมเชื่อว่าหลายคนก็มีไอเดียอยากทำนั่นนี่ แต่ก็ยังไม่ได้ทำ เย็นวันนั้นผมดูหนังเรื่อง La La Land มันเกี่ยวกับการทำตามความฝัน ผมเลยปิ๊งไอเดียว่า เราสามารถเริ่มทำตรงนี้ได้” แม็ก กล่าวถึงวินาทีที่ตัดสินใจทำเพจ Lakoi Dota2 ของตัวเองจริงจัง ก่อนที่คอนเทนต์แรกของ ลาก่อย จะเริ่มนับหนึ่ง

“ผมเริ่มจากการทำคอนเทนต์วิเคราะห์รีเพลย์ จริงๆเพจตั้งมาก่อนหน้านั้นแล้วหนึ่งเดือน แต่ไม่ได้อัพเดทอะไรเลย วันนั้นก็โพสต์ว่า ผมรับวิเคราะห์รีเพลย์ฟรี นั่นคือจุดเริ่มต้นการทำเพจของผม”

การตัดสินใจของ แม็ก สร้างความงุนงงให้กับคุณแม่ไม่น้อย ที่ยอมทิ้งเงินเดือนมั่นคงเพื่อเลือกทำเพจเกี่ยวกับเกม โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีรายรับเข้ามามากน้อยแค่ไหน

“ตอนแรกแม่ก็งงว่า จะเอาจริงเหรอ เขาก็ถามตลอดว่า โอเคไหม อย่างที่บอกไปมันเป็นช่วงที่ผมทำงานที่บ้านแล้วทำงานนี้ไปพร้อมกัน พอถึงจุดหนึ่งผมตัดสินใจบอกแม่ว่า จะไม่ทำงานที่บ้านแล้วเพื่อมาทำเพจอย่างเดียว แม่ก็งงๆ เขาก็ไม่ได้ห้ามหรอก แต่ผมเอาตัวรอดเรื่องเรียนเก่งก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เขาให้ทำ พอเริ่มทำช่องเหมือนมีภาพไปออกงาน ผมก็เอาให้แม่ดู เขาก็มองอยู่ห่าง แต่เขาโอเคแล้วกับสิ่งที่เราทำ”

อย่างไรก็ตามช่วงที่ แม็ก หวนคืนวงการ Dota2 อีกครั้งเป็นช่วงมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเคยตัดสินใจเลิกเล่นไปแล้ว ทำให้ต้องกลับมาเรียนรู้หาข้อมูลเพิ่มเติม ทำความคุ้นเคยกับอดีตเกม MOBA ที่ชื่นชอบ

“ตอนแรกที่ทำผมไม่ได้คลุกคลีเยอะด้วยซ้ำ เพราะเลิกเล่นไปพักหนึ่ง TI1(The International Dota2) –  TI2 พอตามอยู่ แต่ถึง TI3-5 ไม่ได้ตามเลย ตอนเริ่มทำเพจเป็นช่วง TI6 ผ่านไปแล้ว และเริ่มปีใหม่ก็เริ่มช่วงนั้นพอดี ผมเพิ่งรู้ว่า Wings Gaming(ทีม Dota ของจีน) เป็นแชมป์ก็ตอนกลับมาเล่นอีกครั้ง”

“ตอนทำเพจยังไม่มีการแข่งขันอะไร ช่วงแรกที่วิเคราะห์ก็ทำมาเรื่อยๆ มีเป็นคลิปแบบสอนทฤษฏี ทำภาพในเพจเฟซบุ๊ค แต่จุดเปลี่ยนคือเอารีเพลย์โปรเพลย์เยอร์มาทำ มันดูสนุกขึ้นทำให้แนวทางเปลี่ยนไป ตอนเราวิเคราะห์รีเพลย์จะเหมือนเราสอนตรงนี้ดีตรงนี้ไม่ดีนะ แต่พอไปดูโปรเพลย์เยอร์จะไม่เชิงสอนเหมือนให้โปรเล่นเป็นตัวอย่าง แล้วเราพูดว่าเขาทำอะไรบ้าง อย่างนี้ดีต้องทำตามนี้ประมาณนั้น”

“จุดเริ่มต้นที่เอาวิเคราะห์รีเพลย์มาทำคอนเทนต์แรก เพราะผมตามช่องฝรั่งคือ Purge แต่เขาไม่ได้วิเคราะห์มากขนาดนั้น แต่ผมมองว่า คนไทยยังไม่ได้มีใครทำขนาดนี้ก็คิดว่า มันน่าจะมีประโยชน์ MMR (Matchmaking Rating คือคะแนนที่ใช้ประเมินฝีมือการเล่น Dota ) ก็ยังไม่ได้เยอะ”

“แต่แค่รู้สึกว่า เราแค่วิเคราะห์คนต่ำกว่าเราก็ได้ไม่ต้องไปยุ่งกับคนที่ MMR มากกว่า”

Rank น้อย แต่ความรู้แน่น

“ตอนนั้นผมเอาความมั่นใจมาจากไหนก็ไม่รู้ไปสอนเขา(ฮา)” แม็ก เล่าถึงวันที่ Rank ยังน้อยกว่านักเล่นคนอื่นๆ แต่มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมในการผลิตคอนเทนต์เพื่อประโยชน์ต่อผู้เล่น Dota2

“ตอนแรกก่อนจะเปิดเพจมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายังไม่กล้าทำเพราะ Rank เราหน่อยแค่ 3,000 กว่าเอง เพราะถ้าคุณอยากให้ความรู้คนอื่น Rank คุณก็ต้องเยอะด้วย พอวันหนึ่งผมนั่งไต่แรงไปถึง 4,000 ก็คิดว่า โอเคเปิดได้ละ ซึ่งจริงๆก็ไม่ได้เยอะหรอก แต่เหมือนได้ความมั่นใจว่าแรง 4k น่าจะได้คนดูที่ Rank ต่ำกว่าก็เลยกล้าทำ”

หลังจากนั้นคอนเทนต์ของ Lakoi Dota2 ถูกเผยแพร่ต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่การให้ความรู้วิธีเล่น Dota2 วิเคราะห์รายละเอียดต่างๆว่า สิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ และทำให้มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นตามลำดับ

“ถ้าในเชิงข้อมูลเจาะลึกมากๆหรืออะไรที่โปรเพลย์เยอร์วิเคราะห์กันผมก็ไม่รู้ขนาดนั้นนะ เพราะไม่เคยแข่ง แต่สิ่งที่รู้คือข้อมูลพื้นฐานผมค่อนข้างแน่น เมื่อก่อนผมมีหนังสือ Dota กองหนาเลย ผมซื้อทุกเล่ม ไกด์บุ๊คก็มี ข้อมูลพื้นฐานผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่า แน่นมากๆ Rank 4k เกรดคงอยู่ประมาณ 3.5 ซึ่งมันไม่เท่าโปรหรอก แต่ถือว่า พอไปได้ แต่หากมือใหม่เข้ามาดูก็จะรู้สึกว่า เราก็เก่งเหมือนกัน”

“ช่วงหลังผมได้ดูการเล่นของโปรเยอะขึ้น ตรงนี้เราก็แทรกข้อมูลที่มันลึกขึ้นได้บ้าง ผมรู้ตัวเองดีว่า ไม่ใช่โปรเพลย์เยอร์ ฉะนั่นผมจึงมองตำแหน่งตัวเองว่า คุณกำลังคุยกับมือใหม่หรือระดับกลาง ดังนั้นคนที่เล่นเก่งแล้วไม่ใช่เป้าหมายผม”

แนวทางของ ลาก่อย

จุดประสงค์สำคัญการสร้าง Lakoi Dota2 ของ แม็ก คือต้องการให้คนไทยมีแหล่งการเรียนรู้พัฒนาฝีมือ Dota2 ให้เทียบเท่าต่างประเทศ และเพื่อยกระดับวงการ Dota2 ในไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งเป็นแนวทางที่ชัดเจนนับตั้งแต่เริ่มต้นทำเพจ Dota2

“คอนเทนต์วิเคราะห์กระแสที่กลับมามันอาจไม่ปัง แต่ก็ได้เรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ผมยึดมั่นคือ อย่างน้อยๆมันต้องมีเจ้าของเกมนั้นเข้ามาดู พอถึงจุดหนึ่งคนเห็นว่า มีคอนเทนต์วิเคราะห์แบบนี้ก็อยากให้วิเคราะห์รีเพลย์ของตัวเองบ้าง เขาก็ส่งรีเพลย์กันมาเต็มเลย เราก็มานั่งเลือกว่า จะหยิบเกมไหนมาทำ”

“สาเหตุที่คนอยากให้วิเคราะห์เพราะบางคนบอกอยากเก่งขึ้น บางคนบอกอยากเป็นโปรเพลเยอร์ ตอนนั้นผมอยากทำเพราะคิดว่าอยากให้คนเก่งจริงๆ แต่ตอนนี้คงคิดอีกอย่าง ผมตอนนี้กับตอนนั้นคนละคน แต่เราก็ยังอยากเห็นคนไทยเป็นโปรเพลย์เยอร์ Dota2 จริงๆ แล้วผมก็รู้สึกว่า คอนเทนต์ที่ให้ความรู้ส่วนใหญ่มันเป็นอังกฤษ 99% แต่ถ้าเป็นภาษาไทย คนไทยก็น่าจะได้เรียนรู้พัฒนาฝีมือ”

จากแนวคิดดังกล่าว คอนเทนต์ที่ผลิตออกมาจึงไม่ได้มีเพียงข่าวสารวงการ Dota2 แต่ยังเน้นให้ความสำคัญกับคอนเทนต์เพื่อเรียนรู้เป็นหลักเช่น การวิเคราะห์รีเพลย์ที่ทำมาตลอดตั้งแต่เริ่มแรก

“รีเพลย์โปรเพลย์เยอร์เป็นคอนเทนต์หลักๆของช่องที่ตอบโจทย์มากที่สุด ผมไม่ได้ทำคอนเทนต์แบบนี้เพราะความชอบส่วนตัว แต่ผมดูกระแสที่ได้กลับมา มีช่วงหนึ่งที่วิเคราะห์รีเพลย์ทางบ้านกับรีเพลย์โปรเพลย์เยอร์ควบคู่กันไป พอผ่านไปรีเพลย์โปรยอดวิวเยอะกว่ามาก เลยหยุดรีเพลย์ทางบ้านไป”

“…ผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นทางที่ถูกหรือเปล่า แต่มันก็เป็นทางที่ดีที่สุดของเรา”

Dota กับความแตกต่างแห่งยุคสมัย

Dota เป็นเกม MOBA ที่มีอายุยาวนานที่สุด ยิ่งกว่านั้นยังผ่านช่วงกระแสตกอย่างหนัก แต่ก็ยังเรียกความนิยมกลับมาได้ แม้ปัจจุบันจะไม่นิยมเท่า 10 ปีก่อน แต่ Dota2 ที่กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งยังคงมีหลายสิ่งหลายอย่างให้คนเล่นได้สนุกไม่น้อยไปกว่ากัน

“ถ้าให้เทียบผมมองว่า ยุคนี้เจ๋งกว่าเยอะ แต่ยุคก่อนมันก็มีเสน่ห์ของมัน” แม็ก กล่าวต่อ “ถ้าคนที่เคยเล่นมานานก็อาจมีนึกถึงตอนนั้น แต่ยุคนี้มันต่างตรงที่ดูยิ่งใหญ่ขึ้นในเรื่องของการแข่งขัน ยิ่งคนที่ดู Dota มานานจะเห็นว่า ฝีมือโปรเพลย์เยอร์ยิ่งเข้มข้ม อย่างจังหวะเด็ดๆหากเทียบ 5 ปีที่แล้วไม่ค่อยมีให้เห็น แต่ตอนนี้สนุกขึ้น”

“ในด้านการเล่นมันมีอะไรต้องเรียนรู้เยอะขึ้น แต่ก็เรียนรู้ง่ายขึ้นเช่นกัน สมัยก่อน Last creep เป็นก็เทพกว่าคนอื่นแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องปกติ สกิลมันมีเพิ่มตลอด มันทำให้ผู้เล่นใหม่เข้ามายาก แต่ล่าสุดก็มีระบบสอนผู้เล่นใหม่เข้ามา ส่วนตัวผมไม่ได้โฟกัสผู้เล่นใหม่ แต่ผมว่า มันเป็นเกมที่คนดูแล้วสนุก คือคุณไม่ต้องเล่นก็ได้ แต่ลองมาดูกันไหมมันสนุกนะ”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น Dota ดร็อปลงครั้งแรกได้ถูกแทนที่ด้วย HoN (Heroes of Newerth) อีกหนึ่งเกม MOBA ชื่อดังบน PC ซึ่งกลุ่มคนเล่น Dota กลุ่มใหญ่ย้ายสู่เกมใหม่จากกราฟิกที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจกว่า แต่ แม็ก เป็นคนหนึ่งที่ยังชื่นชอบ Dota ไม่มีวันเปลี่ยนใจ

“ช่วงที่มันดร็อปเป็นช่วงที่ผมไม่ได้เล่นพอดี ตอนกลับมาทำเพจคือดร็อปไปแล้ว ผมเล่นจนถึงสมัย Dota2 เข้ามาใหม่ๆ ช่วงนั้นมี HoN มาก่อนแล้วก็ Dota2 ด้วยความที่กลับมาตอนดร็อป ผมไม่ได้คิดอะไรมาก ช่วง HoN เข้ามาจะมีผู้เล่นกลุ่มหนึ่งย้ายไปเล่น แต่ผมอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ยังเล่น Dota ต่อไป บางคนยอกภาพมันสวยกว่า แต่ผมไม่ไปเหมือนสายยึดติด”

“HoN กราฟิกสวยกว่าจริงๆ เกมไวกว่า แต่หลักๆน่าจะเรื่องกราฟิกเพราะดูดีกว่าจริงๆในตอนนั้น ผมคิดว่า HoN ทำให้คนเล่น Dota หายไปเยอะ RoV นี่มาหลังๆแล้ว มันเป็นเกมมือถือด้วยคงเทียบกันยาก แต่ถ้าพูดถึงตอนนี้ก็รู้สึกดีที่เราไม่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนไปเล่น HoN เพราะมันหยุดพัฒนาไปแล้ว”

แม้จะผ่านช่วงเวลากระแสดร็อปลงไป แต่ แม็ก มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Dota ได้รับความนิยมน้อยลงคือเสน่ห์การเล่นกับเพื่อนที่ในวันนี้ไม่มีบรรยากาศแบบนั้นให้เห็นนัก

“สิ่งสำคัญหลักๆของเกมนี้มันคือการเล่นกับเพื่อนเฮฮากัน แต่ยุคนี้ไม่มีแบบนั้นแล้ว เสน่ห์มันหายไป คนพูดกันว่า ผู้เล่นใหม่เข้ามาแล้วอาจมึนเรียนรู้ยาก ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่มันเป็นปัญหารอง ผมคิดว่า แค่มีเพื่อนเล่นกันไปมันๆไม่ต้องรู้ลึกหรอก แค่เล่นกับเพื่อนก็สนุกแล้ว มันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม”

“ก็เหมือนวันนี้ที่มีเพื่อนชวนกันเล่นเกมมือถืออย่าง RoV ก็เปลี่ยนไปเล่นแค่นั้น” 

การแข่งขัน และอนาคต Dota ในไทย

“ผมมองว่า การแข่ง Dota มันยิ่งใหญ่อยู่แล้ว เพราะมีเงินรางวัลสูงตั้งแต่ Ti1 แรกมาจนถึงตอนนี้ อีสปอร์ตก็พัฒนามาเรื่อยๆ”

“ยุคนี้ในไทยมีทัวร์นาเมนต์จริงจังมากขึ้น แต่ผมมองว่า มันก็ยังไม่มากอยู่ดี เพราะ Dota ในไทยมีดันจริงจังอยู่เจ้าเดียว แต่ล่าสุดมีรายการ ESL Thailand Championship เข้ามาก็ถือว่า เด็ดอยู่”

ในปี 2011 ทีม Dota ของไทยเคยถูกเชิญเข้าร่วมการแข่งขัน Ti1 เป็นครั้งแรก นั่นคือ MiTH-Trust ทีม Dota ในตำนานของไทย ซึ่งสมาชิกประกอบไปด้วย I3nu , TnK , Lookball , aabBAA และ LaKelz ที่ปัจจุบันผันตัวเป็นโค้ช Dota2 ของ Motivate.Trust(อ่านเรื่องราวของ LaKelz ได้ที่ One Esports)

“สิ่งที่ผมเห็นพัฒนาการชัดเจนคือ โปรเพลย์เยอร์คนไทย เพราะตั้งแต่เราเคยไป Ti1 ตอนนั้นเป็นทีมเชิญไปแข่งเพราะคนไทยเล่น Dota1 เก่ง แต่เราก็ไม่ได้ไปอีกเลยมาช่วงหลังคนไทยย้ายไปอยู่ทีมต่างประเทศมันดูมีสีสันได้เชียร์คนไทย”

แม็ก ยังกล่าวความชื่นชอบโปรเพลย์เยอร์ชาวไทยอย่าง Jabz สังกัด Fnatic และ 23savage ของ T1 ทีมอีสปอร์ตชื่อดังของเกาหลีใต้ที่ได้รับการยกย่องฝีมือในระดับโลกว่า

“ผมชอบทั้งคู่ แต่ชอบคนละแบบอย่าง Jabz เขาเล่นมานานฝึกตัวเองมาเยอะ ทะลุออกไปจากกรอบเดิมๆที่ผู้เล่นไทยทำได้ ผู้เล่นไทยคนพูดว่า เก่ง แต่เรื่องภาษาวิธีการคิดอาจไม่ได้ ต่างชาติ ผมชอบ Topson คนชอบเยอะมากลงคลิปทีไรระเบิดทุกที เล่นสไตล์บ้าบ้า แต่ถ้าเรื่องฝีมือต้อง อาเจนซี ผมชอบดูสตรีมเขาด้วย”

“ถ้าให้จัดทีม 5 คน ผมเลือก Arteezy แครี่ Topson มิดเลน Secret แล้วก็ fy ออฟเลน Puppey แล้วก็ DJ หรือ Jabz”

นอกเหนือจากความชื่นชอบส่วนตัวเขายังยืนยันว่า การพัฒนาที่เด่นชัดที่สุดคือ ผู้เล่นคนไทยที่ไต่ระดับจนเป็นที่ยอมรับในวงการแข่งขัน Dota2 จากเดิมที่เป็นทีมถูกเชิญ มาวันนี้โปรเพลย์เยอร์คนไทยต่างยกระดับฝีมือตัวเอง หลายคนถูกทีมต่างประเทศคว้าไปร่วมทีม ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ

ยิ่งกว่านั้น เรากำลังจะได้พวกเขาประชันฝีมือกับยอดทีมจากทั่วโลกผ่านศึกใหญ่ของปีอย่าง ONE Esports Singapore Major

ONE Esports Singapore Major ศึกชิงความเป็นหนึ่ง Dota2

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบวงกว้างต่ออีสปอร์ต เมื่อไม่สามารถจัดการแข่งขันออฟไลน์ได้เพื่อป้องกันการระบาดจากการรวมตัว ช่วงที่ผ่านมาถึงไม่มีทัวร์นาเมนต์ออฟไลน์เกิดขึ้น

แต่สถานการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับทำให้แฟน Dota2 กำลังได้ชมการแข่งขันรายการใหญ่อย่าง ONE Esports Singapore Major ที่ไม่ใช่เป็นรายการออฟไลน์แรกนับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น แต่ยังเป็นทัวร์นาเมนต์ที่คัด 18 ทีมที่ดีที่สุดจากแต่ละโซนทั่วโลกมาประชันฝีมือระเบิดความมันให้แฟนๆได้ชมติดจอ และเริ่มนับหนึ่งไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา

นอกจากจะเป็นรายการที่แฟนๆ Dota2 รอคอย ส่วนตัว แม็ก ในฐานะผู้คลุกคลีวงการ Dota2 มองว่า นี่คือรายการแข่งขันที่น่าติดตามที่สุดเช่นกัน

“ผมคิดว่า ONE Esports Singapore Major ดีมาก มันไม่ได้มีการแข่งขันแบบนี้มานานมากแล้ว เป็นการแข่งข้ามภูมิภาคด้วยนี่เป็นครั้งแรกที่เป็นแบบเปิด”

“สำหรับผมบอกเลยว่า โครตน่าดู เรารู้ว่ายุโรป Secret เก่ง แต่เราไม่รู้เลยว่าพอไขว้กันแต่ละทีมอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าทุกคนที่ตามดูการแข่ง Dota น่าจะรอดูกัน ก็ต้องดูทีมที่เป็นท็อปของแต่ละโซน มี Secret อยู่แล้ว มี iG(Invictus Gaming) เป็นท็อปจีน เอเชียอาจเป็น Fnatic”

“แต่ถ้าถามว่าทีมไหนมีลุ้นก็คงเป็นทีมท็อปของแต่ละโซน อย่างที่บอกมันคือการไขว้กัน Evil Geniuses อาจเก่งไม่เท่า Nigma ก็ได้ นั่นแหละที่น่าดู”

Dota ไทยในวันที่ไม่เหมือนเดิม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสความนิยม Dota ในไทยลดน้อยลงน่าใจหายหากเทียบเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ แม็ก มองว่า Dota ไม่มีวันล้มหายตายจากวงการเกมง่ายๆ เพราะคุณภาพที่มี และ ความน่าสนใจที่ยังน่าดึงดูดอยู่เสมอ

“ถ้าเทียบกับ 4-5 ปีที่แล้วมันก็ไปในทางบวกนะไปได้อีกเยอะด้วย เพราะ Dota มันคือเกมคุณภาพ ถ้าเปรียบเป็นหุ้นก็เป็นหุ้นพื้นฐาน มันตกยาก สิ่งที่ผมใช้วัดส่วนตัวว่า เกมจะไปต่อได้ไหมคือแพท ถ้าดีมีความครีเอทใส่ใจผู้เล่นก็ไปต่อ ถ้าไม่ดีห่วยก็ไม่น่าสนใจ แต่ Dota แพทดีตลอด ล่าสุดก็ดีมีนิวเพลย์เยอร์อัพเดท ผมมองว่า มันเป็นสัญญาณที่ดีของเกมนี้ ถ้าคนเคยดูแข่ง จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Dota มันคือที่สุดแล้ว”

“ผมอยากเห็นคนเล่น Dota เยอะกว่านี้ มีโปรเพลย์เยอร์คนไทยเยอะกว่านี้ อยากเห็นไทยลีกสนุกๆ ถ้าเกิดว่าได้สักครึ่งหนึ่งของ RoV ก็ดีแล้ว ทีมที่หนึ่งของลีกมีแฟนคลับตามอะไรแบบนั้น แต่ทุกวันนี้เรายังไม่เห็นภาพนั้น ยังเหลืออีกเยอะกับความเป็นไปได้”

แม้ความนิยมจะสวนทางกับเกมอื่นๆ แต่ แม็ก ยังมุ่งมั่นผลิตคอนเทนต์เพื่อสร้างประโยชน์สำหรับคนเล่น Dota ต่อไป แต่เขายังคงยืนยันคำเดิมว่า สิ่งที่อยากเห็นที่สุดคือคนกลับมาเล่น Dota มากขึ้น

“ตอนนี้อาจจะ 70% ของคนที่เล่น Dota น่าจะรู้จัก ลาก่อย ผมอยากให้มีคนมารู้จัก และมาดู Dota เพิ่มขึ้นอยากให้มีคนมาดูการแข่งว่า เกมนี้มันสนุกนะ ผมเลยเน้นไปที่คนที่ไม่เคยเล่น กระแสในบ้านเรากลางๆไม่ได้แย่ แต่ห่างไกลจากคำว่าปัง ถ้าเต็ม 10 คงสัก 4”

“ทุกงานมีช่วงเบื่อบ้าง แต่ถ้าไม่สนุกผมคงเลิกทำเพจไปแล้ว มันสนุกดีพอเราพูดอะไรไปมีกลับมาที่โอเคว่า ฟังแล้วดีจังไต่แรงก์ขึ้น อย่างหลายคอนเทนต์ที่เราปล่อยไปหลายคนยังไม่เคยรู้ก็เหมือนได้ทำสิ่งที่เราชอบเห็นคนอื่นได้ประโยชน์ แค่นั้นผมก็มีความสุขแล้ว” แม็ก ปิดท้าย

อ่านเพิ่ม: ฟ้าหลังฝน : การกลับมาของ Cherie กับมุมมองชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม