ไม่กี่วันที่ผ่านมา EVOS PHOENIX ประกาศข่าวชวนน่าเป็นห่วงสำหรับผู้เล่นตัวเก่งเกม Free Fire อย่าง CRUZ หรือ ไอซ์ – ปิยพนธ์ บุญช่วย เมื่อดาวรุ่งของทีมจำเป็นต้องหยุดพักจากการแข่งขัน เนื่องจากมีความเครียดสูงจนส่งผลต่อปัญหาด้านสภาพจิตใจอย่างหนัก
CRUZ ไม่มีชื่ออยู่ในทีม EVOS ชุดลุยศึก Free Fire รายการ Thailand Championships 2023 ทำให้แฟนๆ ต่างสงสัยในไลน์อัพที่ประกาศออกมา ก่อนที่ทางสังกัดจะแถลงเหตุผลที่เขาไม่มีชื่อในรายการนี้ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง จากการถูกแรงกดดัน และความเครียดรุมเร้าจนไม่สามารถแข่งต่อได้ไหว
แน่นอนว่านักกีฬาย่อมเผชิญแรงกดดันมหาศาลจากความคาดหวังของแฟนๆ โดยเฉพาะผู้เล่นที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่นเดียวกับ CRUZ เขาคือนักแข่งชาวไทยที่เคยไปไกลถึงแชมป์โลก Free Fire มาแล้ว 2 สมัย รวมไปถึงแชมป์ Free Fire Pro League Thailand ที่เคยชูถ้วยแชมป์มาแล้งอีก 3 สมัย ดังนั้นความคาดหวังจากแฟนๆ จึงมากขึ้นจากเพดานความสำเร็จที่เขา และทีมเคยทำได้
อย่างไรก็ตามแม้ว่าทีมจะประสบความสำเร็จด้วยการคว้าแชมป์ Free Fire World Series 2022: Bangkok ช่วงปลายปี 2022 แต่ความผิดหวังที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ สร้างความเครียดให้กับเขามาตลอดจนนำไปสู่จุดที่ CRUZ ต้องตัดสินใจพักแข่งตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักกีฬาอีสปอร์ตถูกความเครียดเล่นงานจนต้องพักแข่ง และ CRUZ ก็คงไม่ใช่คนสุดท้ายที่ต้องเผชิญสภาวะนี้ แต่การป้องกันไม่ให้นักกีฬาต้องเผชิญสภาวะแบบนี้จะต้องทำอย่างไร จะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไรบ้างเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ONE Esports ได้พูดคุยกับผศ. ดร. วิมลมาศ ประชากุล หรืออาจารย์ปลา นักจิตวิทยาการกีฬาจาก คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท SportMind กับประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับทีมอีสปอร์ต และเคยเจอนักกีฬาที่ตกอยู่ในสภาวะแบบนี้มาแล้ว
อีสปอร์ตกับแรงกดดันที่มากกว่ากีฬาชนิดอื่น
ไม่มีใครปฏิเสธว่า อีสปอร์ตเป็นกีฬาที่นักเล่นเกมทุกคนใฝ่ฝัน เพราะนอกจากจะได้ทำในสิ่งที่ชอบ ยังสามารถสร้างเงินให้กับตัวเองได้ด้วย โดยเฉพาะสมัยนี้ที่การแข่งขันสูงขึ้นทำให้รายได้ก็มากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามความคาดหวังย่อมมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือความเครียด แรงกดดัน ซ้ำร้ายนักกีฬาอีสปอร์ตไม่ใช่แค่รับมือจากเสียงกดดันในสนามแข่งเท่านั้น แต่พวกเขาต้องเจอคำวิจารณ์ที่รุนแรงผ่านช่องแชทของตัวเองอีกต่างหาก
“อีสปอร์ตมีความแตกต่างไปจากกีฬาอื่นนั่นคือช่องแชทที่ต้องเจอ” อาจารย์ปลา เริ่มกล่าว
“เราจะสอนในแง่ของการเต็มที่ในการฝึกซ้อม และแข่งขัน มันเป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้นักกีฬาเข้มแข็งมากพอจะรับผลที่ตามมาได้ ถ้าเราทำเต็มที่ มั่นใจในการเล่น เล่นได้ตามหน้าเกมทุกอย่าง แม้ผลที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามต้องการ อย่างน้อยๆ อาจเสียดายที่แพ้ แต่เมื่อรู้ว่าเราทำเต็มที่แล้ว ต่อให้ใครมาว่า เราก็รับได้”
“แต่ในขณะแข่งเกิดความกลัวไม่กล้าเล่น ไม่มั่นใจที่เล่นพลาดไปเพราะรู้ว่า ตัวเองเสียสมาธิไม่มั่นใจไปเอง ทำให้พอมีคนมาว่า เราก็ยวบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในช่องแชทก็ไม่ใช่จะมีแค่คนเดียว มันทำให้นักกีฬาหวั่นไหวง่าย”
จัดการความเครียดด้วย Mindset ที่ถูกต้อง
ไม่ได้มีเพียง EVOS PHOENIX เท่านั้นที่พบเจอกับนักกีฬาที่ตกอยู่ในสภาวะความเครียดจนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และผลงานการแข่งขัน แต่ยังรวมไปถึงหลายๆ ทีมที่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันมาแล้ว
ดังนั้นบางสังกัดจึงดึงนักจิตวิทยาการกีฬาเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพ และสอนวิธีการจัดการให้กับนักกีฬาของทีม เหมือนกับ MiTH และ Bacon Time สองทีมดังที่มีนักจิตวิทยาการกีฬาประจำทีม ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญทำให้พวกเขากลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง
“ที่ผ่านมาในการทำงานอีสปอร์ต เคยเจอเคสคล้ายกันแค่คนเดียว เราเข้ามาช่วยประคับประคองจนเขากลับมาแข่งเองได้ แต่มีหยุดพักไประยะหนึ่ง แต่ก็กลับมาได้อีกครั้ง”
“มันมีหลายสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเกิดความเครียดจนถึงขั้นต้องหยุดพัก ในแนวทางของอาจารย์ที่เข้าไปทำงานร่วมกับทีมอีสปอร์ต เราจะเน้นให้นักกีฬามี Mindset ที่ถูกต้อง มีเป้าหมายชัดเจน เราจะช่วยให้เขาจัดการความเครียดที่เกิดจากการแข่งได้ดีขึ้น เราต้องให้เขาทำความเข้าใจว่า ชนะกับการประสบความสำเร็จมันคนละเรื่อง หรือความสำเร็จในทีมเป็นคนละเรื่องกับคุณค่าของตัวเอง”
อาจารย์ปลาเน้นย้ำว่า Mindset คือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นสิ่งแรก การมี Mindset ที่ถูกต้องจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักกีฬารู้วิธีจัดการความเครียดได้ดีขึ้น
“เราจะเน้นเรื่องเป้าหมาย Mindset และสิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมถึงวิธีการรับมือกับมัน เราพยายามพูดคุยกับเขาตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำจนจัดการไม่ได้”
“กรณีของนักกีฬาที่คิดได้ จัดการกับพฤติกรรมได้ จิตวิทยาการกีฬาสามารถช่วยตรงนี้ได้ แต่ถ้าถึงขนาดว่าเขาซึมเศร้าไปแล้ว คิดวิเคราะห์ไม่ได้ ก็ต้องเป็นในส่วนของผู้เชี่ยวชาญที่มีวิธีการจัดการในแบบของเขา ซึ่งจะเป็นคนละกรณีกัน”
- MarkKy EP.1 : เด็กหนุ่มที่เคยปฏิเสธ Bacon Time เพราะเลือกเรียนหนังสือ
- จากพื้นฐานสู่กลยุทธ์โดยโค้ช Voo : แข่ง Valorant ดูยังไง ?
กำหนดเป้าหมายชัดเจน
นอกเหนือจาก Mindset ที่ถูกต้อง สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเป้าหมายของนักกีฬา เพราะอาชีพนักกีฬาอาจไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่การเป็นแชมป์ แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจเป็นเป้าหมายของนักกีฬาบางคนที่ไม่เหมือนกัน
“เราจะโฟกัสที่สมรรถภาพเพื่อเตรียมให้เขาพร้อมเจอหลายสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในการแข่งขัน อาจารย์จะให้ความสำคัญคือเขามาเล่นเกมไหนก็ตาม เล่นกีฬานี้เพราะอะไร ยกตัวอย่างนักกีฬากอล์ฟ ถ้าต้องการเงิน แต่ไม่ได้ชอบเล่นกอล์ฟ เขาพูดให้ฟังทุกอย่างยกเว้นเรื่องชอบกอล์ฟ อันนี้ถือว่าสุ่มเสี่ยง เพราะเวลาเจอความยากโอกาสท้อมันมีมากกว่า”
“ฉะนั้นต้องให้เขาเริ่มต้นว่า เขามาเล่นกีฬานี้เพราะอะไร เช่นอีสปอร์ต เขาเล่นเกมเพราะสนุก ให้เขาเห็นว่าการเป็นนักฬาอาชีพได้เปรียบกว่าอาชีพอื่นนะ เพราะไม่มีใครบังคับให้เราทำได้ เราได้ทำในสิ่งที่รัก เราได้ผลตอบแทนอื่นๆ ด้วย แต่ไม่สำคัญเท่ากับได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราจะดึงเขากลับมาอยู่กับสิ่งที่เขารัก ให้เขาจัดการความคิดตัวเอง และทำออกมาให้เต็มประสิทธิภาพ”
นักกีฬาอีสปอร์ตไม่ได้เป็นเพียงนักแข่งอย่างเดียว แต่ขณะเดียวกันพวกเขายังเป็นสตรีมเมอร์ไปในตัวจึงเป็นเหตุที่อาจทำให้ต้องเจอแรงกดดันทั้งจากการแข่ง และช่องแชทที่ประสงค์ร้ายเวลาขึ้นสตรีม หรือบางครั้งอาจทำให้โฟกัสความสำคัญผิดจุด ซึ่งอาจารย์ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า
“คนเป็นสตรีมเมอร์ต้องเอาใจ Community ดังนั้นจึงต้องอ่านคอยสื่อสารตลอดเวลา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความหวั่นไหว มีแรงกดดันเยอะ”
“ตัวเราก็ต้องสอนนักกีฬาให้เขาเข้าใจก่อนว่า ก่อนอื่นเป้าหมายหลักของคุณจะเป็นสตรีมเมอร์หรือนักแข่ง เพราะมันคนละ Mindset กัน แต่ถ้าจำเป็นต้องทำทั้งสองอย่าง เวลาซ้อมเพื่อแข่ง คุณก็ต้องโฟกัสการแข่ง ส่วนเรื่อง Community ก็ต้องตั้งสติก่อนจะไปรับข้อมูล”
อย่าปล่อยผ่านเรื่องเล็กน้อย
นักกีฬาแต่ละคนมีความเครียดแตกต่างกันไป นอกจากจะเกิดจากการแข่งขัน พวกเขายังต้องเจอปัญหาความเครียดที่อาจเกิดจากเรื่องอื่นๆ ซึ่งบางครั้งในมุมคนนอกอาจถูกมองว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ตัวของนักกีฬาอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา จนนำไปสู่ความเครียดที่มีมากเกินไป
“เคสหนึ่งที่เคยเจอมาเขามีปัญหาหลายอย่างทั้งจากเกมทั้งช่องแชท เรื่องส่วนตัว เลิกกับแฟน แต่เป็นกีฬาอื่นไม่ใช่อีสปอร์ต บางเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นหลายเรื่องในเวลาเดียวกันที่จัดการไม่ได้เลยสับสนไปหมด”
“เราก็จะแนะนำให้เขาสามารถจัดการแยกแยะควบคุมได้ ให้เขาลำดับความสำคัญใหม่ ถ้าเขาทำได้ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าพูดอะไรเขาไม่ตอบสนองอย่างที่เคยเจอมา พอคุยไปสักพักน้องวนกลับมาเรื่องเดิมก็อาจเกินความสามารถของเรา เพราะลำดับความคิดไม่สามารถจัดการได้แล้ว เราเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เชี่ยวชาญเรื่องของการฝึกจิตใจความคิด ไม่สามารถเรียกว่ารักษาได้ ถ้ารักษาก็ต้องเป็นคุณหมอ”
สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานของนักจิตวิทยาการกีฬาคือการที่นักกีฬายอมเปิดใจรับฟัง ยิ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องส่วนตัวย่อมเป็นเรื่องยากที่นักกีฬาจะยอมพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา เพราะไม่เปิดใจรับฟังจริงๆ ซึ่งอาจารย์ปลา ยอมรับว่า นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดในงานของตัวเอง
“การจะทำให้เขาเปิดใจให้ข้อมูลที่แท้จริงกับเรา ไว้ใจเรามากพอที่จะบอกความจริง นั่นคือความยากที่สุด ตรงนี้เป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำให้เขาเชื่อใจเรา”
“บางทีเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเขาไม่กล้าบอกความจริงกับเรา ถามว่าเป็นอย่างไรบ้างก็ตอบว่าก็ดี แต่เรารู้ด้วยแววตาว่าไม่ดี แต่เราจะไม่ได้ถามล้วงอะไรขนาดนั้น แต่จะดูว่าเราจะสามารถช่วยจัดการอะไรได้ไหม ถ้าหนักมากเกินไปก็ต้องถามผู้ที่เชี่ยวชาญกว่านี้”
“เราพยายามบอกเขาว่าเราไม่ได้ช่วยให้แก้ไขได้ทุกปัญหา แต่การที่คุณได้พูดออกมา จะทำให้เห็นความคิดหาวิธีจัดการด้วยตัวเองได้ บางทีเขามีเรื่องเยอะมาก มันอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ของคนอื่น แต่มันใหญ่สำหรับเขา ณ เวลานั้น แต่เพียงแค่ได้ระบายมันก็ดีขึ้นแล้ว บางทีการที่เราเข้าไม่ถึงเพราะเขาไม่ได้บอกความจริงกับเราทั้งหมด เราก็ช่วยเขาไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ยากที่สุดคือการสร้างความไว้วางใจตรงนี้”
สังเกตเพื่อรับมือสิ่งที่อาจเกิดขึ้น
นักกีฬาต้องรับมือแรงกดดันตลอดเวลาจึงเป็นสาเหตุที่อาจทำให้พวกเขาเจอปัญหาเดียวกับ CRUZ หรือนักกีฬารายอื่นๆ ที่โดนความเครียดเล่นงาน ในส่วนของนักจิตวิทยาการกีฬาอย่างอาจารย์ปลา บทบาทหน้าที่อาจไม่ใช่การรักษา แต่คำแนะนำจะทำให้พวกเขาเรียนรู้วิธีจัดการตัวเองเพื่อเดินหน้าต่อไปได้
ปัญหาแรงกดดันที่มากเกินไปเคยทำให้นักกีฬาอีสปอร์ตต้องหยุดแข่งหรือบางคนยอมเลิกแข่งมาแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้หาทางป้องกันได้เพียงเริ่มต้นจากการสังเกต ไม่ปล่อยให้พวกเขาต้องรับมือเพียงลำพัง
“การสังเกตเราทำได้โดยอย่างแรกดูจากสีหน้าของนักกีฬาที่ดูไม่ยินดียินร้ายกับอะไรเลย ดูซึมเฉาๆ ตลอดเวลา คิดลบพูดลบตลอดเวลา ไม่พูดจาไม่ตอบสนองกับเพื่อนแยกตัวไปซ้อมหรือหลบมุมคนเดียว เราอาจเข้าไปพูดคุยกับเขา แต่ไม่ได้ชี้นำว่า มีเรื่องอะไรถึงเศร้าขนาดนี้ เพราะจะไปจี้จุดเขา”
“ก่อนหน้านี้ก็เคยมีนักกีฬาที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า แต่หายแล้ว แต่วันหนึ่งกลับไปมีสภาวะแบบนี้อีก เขาก็มาปรึกษาว่า ควรกลับไปหาหมอดีไหม แต่อาจารย์ก็แนะนำวิธีการ ซึ่งปรากฏว่า พอหลังแข่งขันเขาทำได้ดีเรื่องพวกนั้นหายไป”
“จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะซึมเศร้า แต่มันเกิดจากการคิดลบ คิดดีไม่ได้เลย ณ ตอนนั้น” อาจารย์ปลา กล่าว
กรณีของ CRUZ ทาง EVOS PHOENIX ได้หารือกับโค้ชผู้ฝึกสอน, ผู้จัดการทีม รวมไปถึงปรึกษาผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการแก้ไขร่วมกัน และวิธีการรักษาตัว เพื่อให้นักกีฬาสามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ช่วยให้ CRUZ ไม่ต้องเผชิญสภาวะที่โดนความเครียดกัดกินไปมากกว่านี้
จากการพูดคุยกับอาจารย์ปลา ในฐานะนักจิตวิทยาการกีฬา จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องจะช่วยให้นักกีฬารู้วิธีจัดการตัวเอง ไม่ให้ความเครียดหรือแรงกดดันกระทบต่อสภาพจิตใจ แต่จะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย เพราะนักกีฬาแต่ละคนอาจมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ CRUZ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และหวังว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดกับนักกีฬาคนอื่นๆ กีฬามีแพ้ชนะ มีสมหวัง และผิดหวัง ดังนั้นการรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและต้องฝึกฝน
อ่านเพิ่ม: ผศ. ดร. วิมลมาศ : ผู้ทำให้วงการอีสปอร์ตเห็นความสำคัญนักจิตวิทยาการกีฬา