ก่อนหน้านี้ชื่อของ ผศ. ดร. วิมลมาศ ประชากุล หรืออาจารย์ปลา นักจิตวิทยาการกีฬาจาก คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท SportMind ถูกพูดถึงบนหน้าสื่อบ่อยครั้ง เมื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ น้องเทนนิส–พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่จารึกประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองกีฬาเทควันโด ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกส์ 2021

แต่อีกด้านหนึ่งเธอคือบุคลากรสำคัญที่เข้ามาช่วยเสริมสร้างศักยภาพนักกีฬาอีสปอร์ตของไทยเช่นกัน  โดยนับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาดูแลทีม IT. City Bacon จนถึง Bacon PUBG Mobile และ MiTH ที่ปัจจุบันยังคงมุ่งมั่นใช้จิตวิทยาการกีฬาเข้ามายกระดับเหล่าโปรเพลเยอร์ให้มีประสิทธิภาพในการแข่งบนเส้นทางของตัวเอง

ในบทความนี้เราจะได้ทำความรู้จักว่า แท้จริงแล้วนักจิตวิทยาการกีฬาคืออะไร หลักการทำงานเป็นอย่างไร ผ่านคำบอกเล่าของ อ.ปลา และบางเรื่องราวที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับวิธีการทำงานของนักจิตวิทยาการกีฬามืออาชีพ

มองเห็นความสำคัญจิตวิทยาการกีฬา

ทำสิ่งที่ชอบเป็นอาชีพ ช่วยเปลี่ยนให้ผู้คนเลือกทางเดินชีวิตที่ใช่สำหรับตัวเองในโลกของการทำงาน เช่นเดียวกับ อ.ปลา ที่เริ่มต้นเส้นทางนักจิตวิทยาการกีฬาเพราะความชื่นชอบ และหลงใหลในศาสตร์นี้ หลังจากที่เคยดูการทำงานของ ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์ นักจิตวิทยาการกีฬาแถวหน้าของเมืองไทย ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

“เราจบปริญญาตรี โท เอกในสายกีฬาไม่ได้เกี่ยวกับสุขภาพจิตอะไรเลย” อ.ปลา เริ่มเท้าความเรื่องราวถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา

“ถ้าย้อนกลับไปตอนแรกตั้งแต่ที่เลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ตอนนั้นยังไม่ได้เจาะจงเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา แต่ด้วยความที่ได้ใกล้ชิดกับ ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์ ซึ่งท่านเป็นนักจิตวิทยาการกีฬาในสมัยนั้น ด้วยความเป็นเด็กอยากรู้อยากเห็น ท่านชวนไปไหนก็ไปด้วยได้ไปดูท่านทำงาน ดูแลนักกีฬามวยก็คุ้นเคยกับสิ่งนี้”

“พอถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะเป็นอะไรก็คือตอนไปสมัครนิสิตทุนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาถามเราว่า จะเจาะจงเป็นสายอะไร ตอนนั้นคิดอยู่สองอย่างคือชอบการจัดการ ส่วนอีกอย่างเป็นนักจิตวิทยาเพราะเราคุ้นเคย ก็คิดว่า ถ้าเป็นสายการจัดการมันต้องมีแบ็กอัพถึงจะเจริญก้าวหน้าได้เลยตัดสินใจจะเลือกจิตวิทยาการกีฬาจากความคุ้นเคย และความชอบที่ได้ทหหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือช่วยเหลือดูแลคนก็เป็นจุดเริ่มที่หมายมั่นปั้นมือว่า จะเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา จากนั้นก็ฝึกตัวเองตั้งแต่ปริญญาโทเป็นต้นมา”

เดิมทีนับตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิต อ.ปลา เริ่มทำงานด้านจิตวิทยาการกีฬาหลายประเภทเพื่อฝึกฝนพัฒนาตัวเอง เช่นกีฬาเรือพาย หรือเทควันโด ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2002 ก่อนจะก้าวสู่การทำงานเป็นนักจิตวิทยาการกีฬาแบบเต็มตัว

“ตั้งแต่สมัยเรียนก็เริ่มต้นกับกีฬาเรือพาย ของทีมกีฬามหาวิทยาลัย และได้ดูแลนักกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด ทีมชาติไทย เทควันโดก็เริ่มตั้งแต่แรกๆ ช่วงปี 2002 ตามด้วยกอล์ฟ เพราะตอนนั้นสมาคมเทควันโด เป็นคนซัพพอร์ทค่าใช้จ่ายเอง เขาเห็นความสำคัญจุดนี้เลยดึงนักจิตวิทยาเข้าไป แต่ถ้าเป็นอาชีพจริงๆก็คือนักกอล์ฟ ตอนนั้นเรียกตัวเองว่า นักจิตวิทยาการกีฬาแล้ว ซึ่งนักกีฬากอล์ฟมันชัดเจนอยู่แล้วเรื่องความคิดเรื่องจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ และมีความสามารถที่จะจ่ายเงินได้ก็เลยอยู่กับกอล์ฟเป็นกีฬาแรกๆ”

ด้วยความใฝ่รู้ พัฒนาตัวเองตลอดเวลา และประสบการณ์ที่ได้รับตั้งแต่สมัยเรียน การเป็นนักจิตวิทยาการกีฬาอาชีพครั้งแรกจึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงที่จะให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวนักกีฬา แต่สิ่งที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ อ.ปลา กลับเป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้นักกีฬาหลายคนไม่ยอมเปิดใจรับฟัง

นักจิตวิทยาการกีฬากับความเข้าใจผิดของสังคม

นักจิตวิทยา ตามความเข้าใจของคนทั่วไปมักถูกเข้าใจผิดว่า เป็นหมอรักษาคนที่มีอาการทางจิตหรือโรคประสาท ดังนั้นนักจิตวิทยาการกีฬาจึงถูกเหมารวมไปโดยปริยาย ซึ่งในความเป็นจริงบทบาทหน้าที่ และหลักการทำงานแตกต่างกันสิ้นเชิง

“จริงๆแล้วจิตวิทยาการกีฬากับจิตวิทยาทั่วไปไม่เหมือนกัน ตำแหน่งของอ.ปลาเป็นนักจิตวิทยาการกีฬาหมายความว่าทำงานกับทีมกีฬากับนักกีฬาโดยเฉพาะ จะเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาความคิด แรงจูงใจ ความเชื่อมั่น และเพิ่มทักษะในการควบคุมความคิด ความตื่นตัวเพื่อให้นักกีฬาเล่นได้เต็มศักยภาพของนักกีฬาโดยตรง”

“ในช่วงพอมีชื่อเสียงก็มีคนทักนะว่า รับปรึกษาคนทั่วไปด้วยหรือเปล่า ก็ตอบกลับไปว่า เราไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ หรือแม้แต่นักกีฬาที่เป็นภาวะซึมเศร้าเราก็ช่วยไม่ได้ แต่เราประเมินเบื้องต้นได้ว่า เขาน่าจะมีอาการซึมเศร้ามากกว่านักกีฬาทั่วไปก็ต้องส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญคนอื่น”

หลายครั้งอ.ปลา ถูกเรียกว่า หมอปลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักกีฬาสร้างกำแพงปิดกั้นตั้งแต่เจอกัน เพราะเกรงว่าจะถูกมองไม่ดี มีอาการทางประสาท ดังนั้นความร่วมมือที่จะได้รับจากนักกีฬาจึงไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

ในความเป็นจริงบทบาทนักจิตวิทยาการกีฬา ของ อ.ปลา ก็เป็นเพียงหนึ่งในทีมงานโค้ชที่จะผลักดันนักกีฬาไปสู่ความสำเร็จเท่านั้น

“ที่มีคำว่า ดร.คือเราจบปริญญาเอกไม่ได้หมายความว่าเป็นหมอ แต่ทำให้มีคนแซวเยอะมากว่าหมอปลา ซึ่งบังเอิญหมอปลาก็ไปชนกับหมอผี (จีรพันธ์ แสงขาว – หมอปลา มือปราบสัมภเวสี) อีกคนหนึ่งก็คงเป็นเรื่องขำๆ แต่ก็อยากให้เข้าใจกันให้ถูก เพราะมันทำให้เกิดกำแพงระหว่างเรากับนักกีฬา พอเขาเห็นว่าเราเป็นหมอก็คิดว่า ตัวเองต้องบ้าเท่านั้นถึงจะเข้ามาหาเรา ซึ่งความจริงไม่ใช่”

“ฉะนั้นนักจิตวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของทีมโค้ชในทีมที่มีหน้าที่สร้างความคิด แรงจูงใจ สร้างความมั่นใจฝึกทักษะควบคุมความคิดให้เกิดความตื่นตัวเพื่อให้นักกีฬาเล่นได้ตามศักยภาพที่เขาควรจะเล่นได้”

ในช่วงแรก นักจิตวิทยา ไม่ใช่อาชีพที่ถูกยอมรับมากนัก เนื่องจากความเข้าใจผิดบ่อยครั้งที่ถูกมองว่า เป็นหมอรักษาอาการทางจิต ส่งผลให้การทำงานร่วมกับนักกีฬาเป็นเรื่องยาก ซึ่งบางครั้งถึงขั้นต้องติดตามนักกีฬาแบบหลบๆซ่อนๆ หรือคำพูดที่ทำให้นักจิตวิทยาต้องเจ็บปวด เหมือนที่ อ.ปลา เคยเจอ

“อย่างที่เข้าใจทั่วไป เขาคิดว่าเราเป็นจิตแพทย์ หมอโรคจิต สุขภาพจิตไม่ดี ฉะนั้นจะถูกต่อต้านค่อนข้างเยอะ จริงๆจากที่ได้ทำงานมาตั้งแต่สมัยเรียน มีบางครั้งที่โค้ชเองก็ไม่เข้าใจ เวลาเรานั่งคุยกับนักกีฬาโค้ชเขาเดินมาก็พูดว่า “เห้ย มึงเป็นบ้าเหรอมาคุยกับอาจารย์ปลาเนี่ย” อาจเป็นการแซวเล่นนะ แต่เราเจ็บ  พอเราเข้าไปทักนักกีฬาคนไหน เขาก็รีบตอบว่า ไม่มีอะไร ผมสบายดี”

“หรืออย่างตอนไปฝึกนักกอล์ฟในสนาม เขาก็จะบอกก่อนเลยว่า เวลาเดินดูนักกอล์ฟแข่งให้บอกว่า เป็นพี่หรือใครก็ได้ที่มาดู ไม่ให้บอกว่า เราเป็นนักจิตวิทยา แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว เขากล้าบอกอย่างเต็มปากว่า เรียนจิตวิทยาอยู่มันทำให้การยอมรับดีขึ้นต่างจากเมื่อก่อนที่นักกีฬาไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง เพราะความไม่เข้าใจมากกว่า”

จิตวิทยาการกีฬาในโลกอีสปอร์ต

ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมาชื่อของอ.ปลา ถูกพูดถึงในวงการอีสปอร์ตไทย หลังก่อนหน้านี้ Bacon Time เปิดเผยว่า ได้เชิญ อ.ปลา เข้ามารับหน้าที่ดูแลทีม Bacon PUBG Mobile รวมถึง MiTH ที่อ.ปลา มีส่วนร่วมพาทีมคว้าแชมป์ PUBG Thailand Open 2021 Winter Phase 3 พร้อมสิทธิ์เข้าแข่งขัน PCS5 APAC1

อีสปอร์ตถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของ อ.ปลา แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเธอ เพราะก่อนหน้านี้เคยทำงานกับสังกัดอีสปอร์ตมาแล้วตั้งแต่อีสปอร์ตยุคแรกของไทยในวันที่ Bacon Time ยังเป็น IT. City Bacon ในช่วงที่คว้าแชมป์ RoV Pro League Season 1

“เดิมทีก็รู้จักกับอีสปอร์ตมาตั้งแต่แรกๆอยู่แล้ว ตั้งแต่ Bacon อยู่ IT เคยเข้าไปทำงานกับทีมครั้งหนึ่ง ครั้งเดียวจบ รวมถึงทีม Black Forest ของ RoV ด้วย หลังจากนั้นช่วง 3 ปี ที่แล้วก็เคยไปดูงานที่อเมริกากับ กกท. ช่วงนั้นเป็นปีที่เขากำลังดีเบตเรื่องอีสปอร์ตมากๆ ว่า มันควรจะจัดเป็นกีฬาหรือเปล่า”

“ช่วงที่ไปก็ได้ฟังข้อมูลจากอเมริกาเยอะมากจนเริ่มอินตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า ใช่ อีสปอร์ตมันคือกีฬา แต่ต้องเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตนะไม่ใช่เกมเมอร์ต้องแยกให้ดี ถ้าคนติดเกมเล่นเกมเสียสุขภาพก็ใช่ด้วย แต่ถ้าคุณจะพัฒนาตัวเองเป็นนักกีฬามันก็อีกอย่างหนึ่ง ตอนนั้นก็เริ่มเปลี่ยนความคิดว่า ถ้าจะต่อต้าน สู้เราเปิดรับมันดีกว่าไหนๆก็จะมีกีฬาอีสปอร์ตที่กำลังจะเติบโต งั้นเรามาคิดว่า จะเอาวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าไปพัฒนาเขาได้อย่างไรบ้าง ก็ได้ไปดูงานที่ได้เห็นงานวิจัยเรื่องนี้เยอะมาก ตั้งแต่นั้นมาก็มองว่า อีสปอร์ตก็เป็นอีกกีฬาที่น่าสนใจในการฝึกฝนจิตใจ”

การร่วมงานกับ IT. City Bacon ทุกอย่างไม่ราบรื่น ทำให้เป็นเพียงการร่วมงานช่วงสั้นๆ ก่อน อ.ปลา จะห่างหายไปจากวงการอีสปอร์ตสักพัก

“ตอนเข้าไปทำงานกับ Bacon ก็มีคนติดต่อไป ณ ตอนนั้นคือทำงานยากมาก เพราะเขาไม่เปิดใจรับเลย ตอนนั้นคือแปลกใจว่า โดยท่าทางที่เราเข้าไปพูดกับเขาก็รู้แหละว่าเขาคาดหวังยังไง แต่เราเพิ่งไปครั้งแรกเราไม่รู้ว่าจริงๆเกิดอะไรขึ้นกันแน่ หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย ซึ่งเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรจนมารู้ทีหลังว่า ทีมแยกย้ายกันไปหมด”

“หลังจากนั้นก็ได้ห่างหายจากอีสปอร์ตไปสักพัก แต่การที่เราเข้าไปครั้งแรกก็ไม่ได้หวังว่าทุกคนจะต้องเข้าใจ แต่ต้องให้โอกาสเราทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

เหตุการณ์ครั้งนั้นยังฝังใจ อ.ปลา ในฐานะนักจิตวิทยาการกีฬา แต่ก็ทำให้มองอีสปอร์ตเป็นความท้าทายใหม่ ที่หากโอกาสมาถึงอีกครั้ง เธอตั้งมั่นว่าจะต้องนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าไปช่วยเพิ่มศักยภาพของนักกีฬาเพื่อความพร้อมในการแข่งขัน

ด้วยเหตุนี้ในวันที่ Bacon Time ติดต่อให้เข้ามาช่วยดูแลทีม PUBG Mobile เธอจึงไม่ปฏิเสธ และตอบตกลงด้วยความยินดี

“เราเข้าไปทำทีมไหนก็อยากให้เขาเล่นได้ตามศักยภาพที่ควรจะเล่น แต่ตอนเข้ามาทีม PUBG Mobile รู้อยู่แล้วว่าเป็นคนละเกมกับตอนแรก เราจะไม่ได้อ้างอิงอะไรเกี่ยวกับทีมเดิมเลย แค่รู้ว่าเราจะได้เข้าไปทำอีสปอร์ตอย่างที่เคยตั้งใจจะทำ อยากจะลองดูว่า สิ่งที่เราคิดวางแผนจะตามที่คิดไหม จะได้ใช้ประสบการณ์ความรู้พัฒนานักกีฬาที่มีความเป็นมืออาชีพ”



หลักการทำงาน

หลักการทำงานเบื้องต้นของนักจิตวิทยาการกีฬาตามคำบอกเล่าของ อ.ปลา มีความละเอียดในเนื้องานค่อนข้างมาก ประกอบกับความยากที่ต้องสื่อสารให้นักกีฬากล้าที่จะเปิดอกคุยเพื่อทราบถึงปัญหาโดยตรง จากนั้นจะนำข้อมูลต่างๆมาประเมินผล และติดตามการเปลี่ยนแปลงของนักกีฬาอย่างต่อเนื่อง

“ในหลักการทำงาน เราต้องดูรายละเอียดก่อนว่า มีเวลาให้เท่าไหร่ ความคาดหวังเป็นอย่างไร ทีมอยู่ในลีกระดับไหน” อ.ปลา กล่าวต่อถึงหลักการทำงานกับทีมอีสปอร์ต

“หลังจากนั้นเริ่มจากให้ความรู้ให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลฝึกทักษะการหายใจ ฝึกสติ การผ่อนคลายตัวเอง ด้วยความเป็นกีฬาประเภททีมก็เน้นเรื่องการทำงานเป็นทีมความเข้าใจกันในการสื่อสาร ก็เข้าไปในช่วงฝึกซ้อม และแข่งขันก็ต้องติดตามตลอดเวลา”

“แต่จะดีที่สุดหากอยู่กับเขาตลอดเวลา เพราะหากเป็นช่วงที่วิกฤติสำหรับเขา ถ้าเราไม่ได้เข้าไปตอนนั้นมันก็ไม่ใช่ช่วงวิกฤติ และเราจะไม่ได้ข้อมูลสำคัญในตอนนั้น ดีที่สุดคืออยู่กับเขาตลอด แต่ด้วยความที่อาชีพหลักเป็นอาจารย์ เราก็จะไม่ได้อยู่ตลอด แต่จะติดตามทำให้เขารู้ว่าเราเป็นทีมเดียวกับเขา”

นอกจากการติดตามนักกีฬาอย่างใกล้ชิด การเปิดใจรับฟังของนักกีฬาถือเป็นสิ่งสำคัญตามที่กล่าวไปเบื้องต้น ซึ่งการร่วมงานกับ Bacon PUBG Mobile แม้เวลาจะกระชั้นชิดที่มีเวลาเตรียมตัวก่อนแข่งขันไม่นาน ประกอบกับภายในทีมมีความขัดแย้งเล็กน้อย แต่ผู้เล่นทุกคนที่พร้อมรับฟังรวมถึง Mickie ปองภพ รัตนแสงโชติ โค้ชของทีมที่พยายามย้ำให้เห็นความสำคัญของจิตวิทยาการกีฬา ทำให้การทำงานราบรื่น และช่วยพัฒนานักกีฬาอย่างเห็นได้ชัด

“ตอนที่เข้าไป Bacon PUBG Mobile เหมือนมีปัญหาขัดแย้งกันในทีม ก็พยายามมุ่งเน้นให้พวกเขามองเป้าหมายเดียวกัน เน้นเรื่องการสื่อสารที่จะให้ทำงานร่วมกัน เข้าใจซึ่งกันและกันว่าทุกคนต่างก็อยากให้ทีมประสบความสำเร็จ”

“ส่วน Mickie ก็ให้ข้อมูลดีมากได้คุยกันตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นในทีม ทุกคนในทีมก็เปิดรับฟังคุยได้ทุกคนทั้งภาพรวม และรายบุคคลก็ให้ข้อมูลรับฟัง น้องก็ตอบรับกลับมาได้ดีว่า ผมเคยคิดแบบนี้พอได้ความรู้ใหม่ก็รู้สึกว่าผมไม่เคยคิดมุมนี้มาก่อนเลยก็นำกลับมาคิดอีกรอบหนึ่ง”

“ในการพูดคุย Mickie จะช่วยสื่อสารในทีมให้เห็นว่า มันดีนะ มันสำคัญ เขาก็เคยผ่านมาแล้วแม้กระทั่งตอนนี้ก็คุยกันตลอด เพราะเวลาจะประเมินนักกีฬาดีไม่ดี เราจะไม่รู้เพราะไม่ได้เล่นเกมก็ต้องถามทีมโค้ชว่า สิ่งนี้คือดีหรือไม่ดี ตอนที่เข้าไปซีซั่น 3 เพิ่งเข้าไปได้ 4-5 ครั้ง ทีมก็มีการเปลี่ยนแปลงไลน์อัพใหม่ แต่ก็เชื่อมต่อกันติด เพราะคนที่ยังอยู่ก็จะบอกในทีมว่า มันเป็นสิ่งที่ดีนะต้องฝึกแล้วเอาไปใช้ได้ดี เขาก็ช่วยพูดให้ข้อมูลกัน”

“แต่ถ้าเป็นปัญหาขัดแย้งภายในเราจะไปบอกว่า น้องไม่ต้องโกรธกันมันก็ไม่ได้ เราต้องรู้ที่มาที่ไปว่า เกิดจากอะไร แต่อย่างน้อยที่สุดเอาเป้าหมายทีมเป็นหลักว่า เป้าหมายทีมคืออะไร ตอนนี้อาจมีเรื่องบาดหมางใจกัน”

“แต่ถ้าเป้าหมายเราคืออยากจะเล่นด้วยกันก็ต้องมามองในสิ่งที่ทำให้ทีมพัฒนาไปข้างหน้า…”

เรียนรู้อีสปอร์ตเพื่อเข้าถึงปัญหา

ย้อนกลับไปก่อนจะเริ่มเข้ามาทำงานกับทีมอีสปอร์ต สิ่งหนึ่งที่ อ.ปลา ให้ความสำคัญคือการทำความรู้จักกีฬาหรือเกมชนิดนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่าง และธรรมชาติของแต่ละเกม ซึ่ง อ.ปลา ยอมรับว่า แม้จะเป็นอีสปอร์ตเหมือนกัน แต่เกมคนละแนวเรื่องหลักการทำงานก็แตกต่างกันแล้ว

“โดยพื้นฐานในการฝึกจิตใจของนักกีฬาไม่ต่างกัน แต่ชนิดกีฬามันต่างกัน ฉะนั้นการเปรียบเทียบว่า กีฬาทั่วไปกับกีฬาอีสปอร์ตต่างกันไหม มันไม่ใช่อีสปอร์ตกับกีฬาทั่วไปแค่นั้น แต่ทุกๆกีฬามันมีความแตกต่างมีรายละเอียดการทำงานที่มันต้องต่าง แค่อีสปอร์ตที่เป็นเกมไฟต์เตอร์หรือเกมแบบอื่นก็ต่างแล้ว หรือนักกีฬากอล์ฟ ฟุตบอล ทุกอย่างมีความต่าง สมมุติเทควันโดวันหนึ่งแข่งจบ แต่อีสปอร์ตแข่งทีละช่วง ช่วงละ 3-4 วัน วันละ 4-5 เกม แค่นี้ความคิดก็ต่างแล้ว”

“การเข้ามาทำงานในอีสปอร์ตทำให้ต้องทำความเข้าใจมากๆ เราจะต้องรู้ข้อมูลเบื้องต้นว่า กีฬาอะไร มีความคาดหวังขนาดไหนหรืออุปสรรคที่ต้องเผชิญอยู่คืออะไร ทีมงานเป็นแบบไหน ที่สำคัญมีระยะเวลาให้เราทำงานมากน้อยแค่ไหน”

“อีสปอร์ตเป็นสิ่งที่เราเปิดใจรับอยู่แล้วว่า ตั้งใจว่า ถ้าอีสปอร์ตเข้ามาเราก็จะทำ อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ตอนนั้นช่วงแรกกำลังศึกษา RoV ในระดับหนึ่ง แต่ก็ห่างหายไป พอติดต่อเข้ามารู้ว่าเป็น PUBG ก็ศึกษา แต่ด้วยความเป็นคนที่เล่นเกมเหมือนกัน ไม่ชอบแพ้ก็ตั้งใจว่า จะไม่เล่นเกมที่มันต่อเนื่อง เพราะกลัววางไม่ลงเลยไม่ได้ศึกษาเรื่องเกมมาเลย เล่นก็เล่นแบบที่วางง่ายๆ แต่เวลาทำกีฬาอะไร เราต้องรู้ธรรมชาติของกีฬานั้น ตอนทำกอล์ฟก็ไปเล่นกอล์ฟไม่ต้องเก่งหรอก แค่ให้รู้ว่าเล่นอย่างไร เทควันโดก็ได้สายดำมาจากการที่มีโอกาสได้ไปศึกษา กีฬาอื่นๆก็เล่นตั้งแต่สมัยเรียน”

แม้อีสปอร์ต อ.ปลา จะไม่ได้ลงมือเล่นเอง แต่ก็ศึกษาข้อมูลเพื่อเข้าใจธรรมชาติของเกมจากคำบอกเล่าจากลูกศิษย์ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยถามสิ่งที่ต้องการรู้จากบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นคอเกม PUBG Mobile อยู่แล้ว จึงทราบถึงกติกาการเล่น วิธีเอาชนะ การนับแต้ม รวมถึงสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เบื้องต้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของนักจิตวิทยาการกีฬากับทีมอีสปอร์ตทั้งสิ้น

ขณะเดียวกันหลักการทำงานของนักจิตวิทยาการกีฬามีความชัดเจนในเป้าหมาย ขั้นตอนการทำงาน และวิธีเพิ่มศักยภาพของนักกีฬาแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้นเวลาคือปัจจัยสำคัญ ส่งผลให้การฝึกฝนนักกีฬาจึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าสู่โหมดการแข่งขันเพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุดในด้านการจัดการความคิดของตัวเอง ก่อนที่จะเข้าสู่การเตรียมแผนการเล่นต่อไป

“คอนเซ็ปต์การฝึกทักษะด้านจิตใจเป็นการฝึกเพื่อให้นักกีฬาเข้าโซนการแข่งขันเพื่อที่จะอยู่ในสภาวะที่เขาเล่นได้เต็มศักยภาพ บางทีกดดัน อยากได้มาก เหนื่อยเกินไปมันจะไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่จะเกิดจากการอยากได้มากเกินไปหรือกดดันจนทำให้มันล้น ซึ่งเป็นโจทย์ของเราว่า จะทำอย่างไรให้เขาอยู่ในโซนที่เหมาะสม”

“เวลาฝึกจะต้องฝึกตั้งแต่แรกนานๆ ไม่ใช่ก่อนวันแข่งขัน เราจะฝึกเรื่องการหายใจ รับรู้สติ เรื่องการจัดการความคิดตัวเอง และอยู่กับเขาเพื่อช่วยค้นหาพลังงานที่เหมาะสมของแต่ละคนเป็นแบบไหน เพราะแต่ละคนต้องการรายละเอียดต่างกัน ในวันที่แข่งเราจะไม่ได้ทำอะไรกับเขา แต่วันก่อนแข่งจะติดตามในเรื่องความคิดว่า เขาพูดอย่างไร สิ่งที่พูดหมายถึงอะไร ก็จะคอยสังเกตุตลอด พร้อมไหม พร้อมอย่างไร พอถึงเวลาแข่งขันก็พาเขาเข้าสู่โซน ซึ่งแต่ละคนมีทักษะของตัวเองที่ฝึกกันมาอยู่แล้วใส่เข้าไป”

“หน้าที่ของเราคือเตรียมให้เขาพร้อมทั้งความคิด และอารมณ์เพื่อเข้าสู่แผนการเล่น พอจบการแข่งขันเราจะตอบตามจริงว่า สิ่งที่ออกมาเป็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้เขานำไปใช้กับตัวเองต่อไป”

ขึ้นชื่อว่ากีฬาย่อมมีแพ้มีชนะ หลายครั้งเรามักเห็นภาพนักกีฬาที่หมดกำลังใจสู้ต่อจากผลงานที่ผิดหวัง โดยเฉพาะผู้เล่นในวงการอีสปอร์ตที่มักถูกวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสร้างความกดดันให้กับนักกีฬาจนส่งผลกระทบต่อฟอร์มการเล่นที่ย่ำแย่กว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้การเข้าช่วยเหลือนักกีฬาหลังจบการแข่งที่น่าผิดหวัง จึงเป็นสิ่งสำคัญของนักจิตวิทยาการกีฬา ที่ต้องมีวิธีการประเมิน วิเคราะห์นักกีฬาเพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป

“ส่วนใหญ่หลังจากแข่ง เราจะให้นักกีฬาประเมินว่า สิ่งที่เขาทำได้ดีมีอะไรบ้าง มันจะต้องมีดีสักอย่าง สิ่งสำคัญที่เน้นกับทุกทีมคือ เขาเรียนรู้อะไรจากเกมนี้บ้าง เพราะสิ่งที่เขารู้เป็นสิ่งที่เขาจะต้องเอาไปฝึกซ้อมต่อไป ซึ่งนักกีฬาถ้าไม่ได้ผ่านกระบวนการนี้จะไม่เห็นข้อผิดพลาด รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะสะสมนานๆก็กลายเป็นความเครียดความกดดัน”

“ฉะนั้นเราจึงเปลี่ยนความคิดเขาแทนที่จะมองเป็นความผิดพลาด ก็จะให้เรียนรู้มากกว่าว่า เราได้อะไรจากมันบ้าง การสื่อสารใช่ไหมทำให้เกมไปไม่พร้อมกัน เสียพื้นที่ และตาย ถ้ามาเถียงกันเองว่า พูดไม่ดีพูดไม่ชัด เถียงกันไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ต้องเรียนรู้ว่า การสื่อสารมันสำคัญ เรียนรู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรให้พร้อมกัน เราจะใช้วิธีนี้เพื่อไม่ให้นักกีฬาเก็บไปสะสม”

“ถ้าเขาเรียนรู้ว่า อะไรที่ไม่ดี มันเกิดจากอะไรบ้างก็แก้ไขตรงนั้น จะสื่อสารให้เขาเป็นแบบนี้มากกว่า”

แก้ไขปัญหา / เพิ่มศักยภาพ / มุ่งสู่เส้นชัย

ก่อนหน้านี้ อ.ปลา เพิ่งร่วมงานกับ MiTH สังกัดอีสปอร์ตชื่อดังของไทยที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก มีการปรับไลน์อัพ อีกทั้งต้องดิ้นรนหนีตกชั้นใน PUBG Thailand Series Season 6 แบบหวุดหวิด ท่ามกลางแรงกดัน และคำดูถูก ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เล่นในทีมย่ำแย่ไปตามๆกัน

แต่ในศึก PUBG Thailand Open 2021 Winter Phase 3 ทีม MiTH กลับสู่ความสำเร็จอีกครั้ง พร้อมสิทธิ์เข้าแข่งขัน PUBG Continental Series 2021 Series 5 APAC (PCS5 APAC) โดย อ.ปลา เป็นหนึ่งในทีมงานเบื้องหลังครั้งนี้

“ผมไม่สงสัยเลยทำไม อาจารย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกของน้องเทนนิส และ ครั้งนี้ อาจารย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ให้พวกเรา MiTH.PUBG กลับสู่ APAC” คำขอบคุณของโค้ช voo กุนซือของทีมถึง อ.ปลา ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของนักจิตวิทยาการกีฬาต่อทีม ที่ต่อให้ผู้เล่นฝีมือดีแค่ไหน แต่หากสภาพจิตใจไม่พร้อมสู้ พวกเขาอาจต้องพบเจอความผิดหวังเหมือนที่ผ่านมา

“ในการทำงานอย่างน้อยสุดเวลาที่ใช้ก็คงเป็นเดือน แต่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอย่างการทำงานกับ MiTH ค่อนข้างง่าย เพราะโค้ชกับผู้เล่นให้ความสำคัญอยู่แล้ว“ อ.ปลา เล่าถึงการร่วมงานกับ MiTH “ตอนเข้าไปในทีม น้องๆในทีมมีรุ่นพี่ที่เขาเห็นความสำคัญก็เป็นตัวช่วยที่ดีมาก ซึ่งตอนอยู่กับทีม โค้ช voo จะอยู่ด้วยตลอด คอยเสริมว่ามันสำคัญอย่างไร โค้ชเองก็เอาไปปรับใช้ต่อทำให้ทุกคนในทีมเปิดใจเห็นความสำคัญได้ง่ายขึ้นทำให้การทำงานเร็วขึ้น”

“ช่วงแรกที่ร่วมงานกับทีมตอนแรกเราไม่รู้ว่า ทีมมีเบื้องหลังเป็นอย่างไร รู้แค่ว่า ทีมนี้ต้องการ และกำลังจะแข่ง ก็ได้โทรคุยกับโค้ช ก็คิดว่า ตัวเราน่าจะช่วยได้ แต่ไม่รู้หรอกว่า MiTH เป็นทีมที่มีผลงานเลวร้ายขนาดไหน พอเข้าไปเราก็ตามหน้างานในสเต็ปที่เราวางไว้ แต่การเข้าไปอยู่กับทีมทำให้เราได้เข้าใจมากขึ้นว่า พวกเขาเป็นทีมมหาชน ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ใหม่ของ อ.ปลา ว่าการที่เราต้องอยู่ในสปอร์ตไลท์แล้วมีคนชื่นชม และถาโถมขนาดนี้มันเป็นอย่างไร เราก็ต้องเตรียมความพร้อมให้นักกีฬาให้เขาเตรียมรับมือกับสิ่งนี้ด้วยเพื่อให้เขาเล่นได้เต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจากการที่พวกเขาฝังใจมาสักพัก”

อย่างไรก็ดี แม้ไม่รู้ปูมหลังของทีมมากนัก แต่การทำงานกับ MiTH กลับราบรื่น เพราะไล่ตั้งแต่ผู้บริหาร โค้ช ตลอดจนผู้เล่นต่างให้ความสำคัญกับจิตวิทยาการกีฬา ทุกคนเชื่อฟัง และพร้อมนำทักษะที่ อ.ปลา สอนมาปรับใช้ทั้งในสนามซ้อม และสนามแข่งจริง

ความสำเร็จจึงเป็นผลลัพธ์ที่ MiTH ได้รับกลับมา…

“ตั้งแต่ที่เข้าไปร่วมงานกับ MiTH เรารับรู้ว่า น้องๆตั้งใจฟัง พอเราคุยส่วนบุคคลถามเขาว่า เขาได้อะไรกลับไปบ้าง ซึ่งสิ่งที่เขาตอบกลับมาทำให้รู้ว่า ทุกคนตั้งใจฟังเราเอาที่เราพูดไปคิดไปใช้ต่อ เรารู้ว่า ทุกคนเก่งอยู่แล้วก็ชื่นชมสร้างความมั่นใจให้กับน้องๆว่า เขามีศักยภาพที่ดีอยู่แล้ว”

“แต่สิ่งที่ชัดเจนเลยก็คือ จากวันนั้นที่เราคิดว่า น้องๆเก่งอยู่แล้ว แต่วันนี้แววตาความมุ่งมั่นท่าทางมันต่างกัน จากตอนแรกที่พวกเขาบอกว่า พวกผมโอเคไม่มีอะไรก็รับได้กับทุกสิ่ง”

“แต่เทียบกับวันที่ประสบความสำเร็จเรารู้เลยว่า มันแตกต่างกันในแววตาของพวกเขา ซึ่งมันก็เป็นข้อมูลสำหรับเราที่ทำให้เห็นว่า พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้ทุกคนเล่นได้ดีทำให้เขาอยู่ในความเหมาะสม” 

วิธีรับมือนักกีฬาที่ปิดกั้น

อย่างไรก็ดีเมื่อมีคนรับฟังก็ย่อมมีบางคนที่ไม่พร้อมเปิดใจรับสิ่งที่สอนไป เหมือนที่ อ.ปลา กล่าวในตอนต้น การถูกปิดกั้นเกิดขึ้นได้หลายเหตุผล ทั้งหมดล้วนทำให้นักจิตวิทยาการกีฬา ทำงานยากขึ้น แต่ผลเสียที่เกิดก็ย้อนกลับไปสู่ตัวนักกีฬาเองทั้งสิ้น 

“ถ้าเจอกรณีแบบนี้เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็มีการให้ข้อมูล การจดบันทึก แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะฟัง เหมือนเราสอนหนังสือก็มีไม่กี่คนที่จะฟัง แต่อย่างน้อยให้รู้นะว่า หน้าที่ของเราดูแลเรื่องอะไรบ้าง เสร็จแล้วก็พยายามอยู่เคียงข้างเขา”

“เคยมีบางคนจริตไม่ตรงกันเขาอาจไม่อยากพูดคุยกับผู้หญิง ไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้าเพราะไม่คุ้นเคย แต่เราอาจฝากข้อความให้โค้ชเป็นคนพูดเช่นนักกายภาพ หมอนวด หรือคนที่เขาใกล้คิดก็เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ถ้าเกิดเขาต่อต้านก็ไม่ได้เข้าไปฝึก เราก็ฝึกคนที่ตั้งใจพอผลเริ่มออกมา คนที่เขาลังเลหรือยังไม่เห็นความสำคัญก็จะค่อยๆเห็น หรือเขาอาจไม่ได้เชื่อที่เราพูด แต่เชื่อจากเห็นสิ่งที่คนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จแทน”

นอกเหนือจากการเปิดใจของนักกีฬาแล้ว เรื่องของอายุก็มีผลเช่นกัน ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วยวิธีที่แตกต่างกันเพื่อให้นักกีฬาได้นำทักษะไปใช้ในสนามแข่ง

“เรื่องของอายุก็มีผล แต่ไม่ได้จำกัดว่าอายุเท่าไหร่การรับฟังเป็นอย่างไร เคยมีเด็กอายุน้อยแค่ 8 ขวบ พ่อเขาอยากให้ฝึกมาก ก็ยังคุยกับคุณพ่อเขาว่า อายุน้อยเกินไปหรือเปล่า แต่ก็ลองมานั่งคุยกันก่อน ซึ่งพอคุย น้องก็ไม่กล้าคุย ในกรณีนี้ก็ต้องคุยผ่านคุณพ่อ เอาข้อความหลักการเราไปใช้ แต่เด็กผู้ชายอายุ 9 ขวบคุยกันรู้เรื่องก็มี”

“เรื่องอายุสำคัญ แต่หลักๆเป็นเรื่องความเข้าใจมากว่า รวมถึงประสบการณ์หรือความสนใจของน้องที่อยากจะฝึกจริงๆหรือเปล่ามากกว่า”

อ่านเพิ่ม: Isilindilz : เส้นทางลูกผู้ชายบนถนน RoV กับเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง