บทความนี้สนับสนุนโดย Omne by FWD – ปองภพ “Mickie” รัตนแสงโชติ จะพาไปเจาะลึกวิธีคิด และมุมมองของเขากับอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ เมื่ออีสปอร์ตถูกมองว่าอายุงานสั้น ไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหนล้วนแต่มีอายุงานไม่ยืดยาว และเป็นอาชีพที่ไร้ความมั่นคง

วัฏจักรโลกอีสปอร์ตในมุมมอง Mickie

นักกีฬาอีสปอร์ตมีผลตอบแทนค่อนข้างสูงตามการเติบโตที่ก้าวกระโดด แต่การยืนระยะของอาชีพนั้นสั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 16-25 ปี เท่านั้น บางรายอยู่ในวงการเพียง 5 ปี ก็ต้องตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเส้นทางอื่น 

“ผมว่าอาชีพทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรมั่นคง มันขึ้นอยู่กับว่ามีโอกาสมากหรือน้อย”

“คนส่วนน้อยในหลายวงการคือคนที่ประสบความสำเร็จ แต่บางวงการคนส่วนน้อยคือคนที่ล้มเหลว กับอีกบางวงการเขาเลือกที่จะทำเพราะแค่อยากทำสิ่งนี้ในช่วงอายุนี้ เพราะถ้าเลยจากนั้นไปแล้วจะไม่มีโอกาสได้ทำ แต่คนที่คิดแบบนี้เขาวางแผนไว้แล้วว่า ถ้าทำงานนี้ หากมีอายุงานแค่ 5 ปี หลังจากนี้จะไปทำอะไรต่อ”

“มันไม่มีอาชีพไหนมั่นคงทำไปได้ตลอดหรอก อย่างโควิด-19 ทำให้หลายครอบครัวเจอสิ่งแย่ ๆ บางคนโดนไล่ออกจากงานที่มั่นใจว่ามั่นคงที่สุดสามารถทำได้ไปตลอด แต่กลับโดนไล่ออก สุดท้ายทุกอย่างมันอยู่ที่โอกาส เราต้องรู้จักปรับตัวเรียนรู้จะปรับตัวตามสถานการณ์นั้น ๆ”

ไม่เพียงตัวนักกีฬาเท่านั้น แต่งานโค้ชอีสปอร์ตตลอดจนนักพากย์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งประเด็นความมั่นคงอาชีพโค้ช และนักพากย์ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อถูกมองว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะคนไทยมีฝีมือ แต่สายอาชีพกลับไม่เติบโตตามที่ควรในปัจจุบัน

“ผมเองเคยเป็นโค้ชมาก่อน อายุงานสั้นเผลอ ๆ ทำปีเดียวโดนไล่ออก ที่เป็นแบบนั้นเพราะความต้องการมันยังน้อย เพราะตอนนี้ยังถือเป็นช่วงเริ่มต้น มันเกิดขึ้นได้กับอาชีพที่อยู่ในยุคเริ่มต้นไม่ว่าจะเป็นศิลปินดาราก็เคยผ่านจุดนี้มาแล้ว ที่ถูกมองเต้นกินรำกิน ไม่มีใครอยากให้ทำ แต่ที่พวกเขาเลือกจะทำก็เพราะใจรัก”

“ยกตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดคืออาชีพนักแข่ง ผมเริ่มแข่งเกมครั้งแรกปี 2008 จากเกม Audition (อดีตเกมเต้นออนไลน์อันดับ 1) จากนั้น 2011 แข่งจริงจังกับ Point Bank(PB) แบบมืออาชีพ ตอนนั้นขนาด PB เป็นเกมยิงปืนอันดับหนึ่งของประเทศยังได้เงินเดือนแค่ 2,000 บาท แล้วจะอยู่อย่างไร แต่เป็นสิ่งที่คนยุคบุกเบิกต้องยอมรับ และเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น”

Mickie
Credit:Mickie


อย่างไรก็ตามในมุมมองของ Mickie กับวงการอีสปอร์ตต่อจากนี้ เขามั่นใจว่า ทุกอย่างจะเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งรวมถึงทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องกันจะเติบโตไปด้วยกัน

“อย่างพี่ voo เขาไม่เคยอยากเป็นนักพากย์ เขาเคยเป็นนักแข่งเกมที่เก่งมาก ๆ คนหนึ่ง แต่เกิดผิดยุค ตอนที่เขาได้แชมป์ระดับประเทศได้เงิน 30,000 บาท หรือน้อยกว่านั้นเขาเคยเล่าว่าได้มา 10,000 บาท หาร 5 คน ในทีมก็ตกคนละ 2,000 บาท กับการซ้อมมาทั้งปี”

“แต่สุดท้ายในอนาคตไม่ว่าจะโค้ช ผู้จัดการหรืออาชีพอื่น ๆ ในวงการอีสปอร์ตจะโตขึ้นแน่นอน”

การเติบโตที่ไปไม่สุดของทีมอีสปอร์ต

อีกหนึ่งปัญหาอายุงานที่ไม่ยืดยาวของนักกีฬาอีสปอร์ตคือไม่มีสังกัดลงเล่น ชีวิตมีขึ้นมีลง วันนี้คุณอาจประสบความสำเร็จกับทีม แต่วันข้างหน้าอาจต้องกลายเป็นเพลเยอร์ไร้สังกัด หากเปรียบเทียบกับนักฟุตบอลก็เหมือนคำที่ว่า “หมาล่าเนื้อ” สื่อถึงนักเตะที่ต้องย้ายหาทีมใหม่บ่อยครั้งจากการเซ็นสัญญาระยะสั้นที่อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ทีมอีสปอร์ตไม่ต่างจากสโมสร หลายทีมที่เคยปรากฏชื่อในหน้าสื่อมีช่วงเวลาของตัวเอง บางทีมพุ่งชนความสำเร็จกลายเป็นที่รู้จักในระดับโลก แต่บางส่วนโชคร้ายไม่ได้ไปต่อ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ

“ตอนผมเริ่มแข่งเกม Point Bank ผมย้ายทีมบ่อยมาก ส่วนมากทีมอีสปอร์ตถ้าไม่ได้แชมป์จะทีมแตกมันจะมีเหตุผลอะไรก็ไม่รู้โผล่มาเต็มไปหมด”

“แต่เหตุผลอันดับหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้เล่นมองว่าทีมนี้น่าจะไม่รอด ไปหารวมทีมใหม่กับคนอื่นดีกว่า เหตุผลที่สองในเมื่อแข่งไม่ชนะยังต้องซ้อมมากกว่าเดิมไปทำไม สู้กลับไปทำสิ่งอื่นที่อยากทำดีกว่า หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่จะมี 1-2 คน ในทีมที่ไม่อยากไปต่อ ผมเองก็เคยทำทีมเล่น ๆ ผมไม่ได้อยากแข่งในตอนนั้น แต่เขาบอกว่าขาดคนเดียวช่วยมาแข่งได้ไหม ผมพยายามทำเต็มที่ผลงานก็ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ที่ทีมแยกกันไป เพราะมี 2 ใน 5 คน ที่เล่นโดดเด่นมากจนถูกทีมอื่นติดต่อดึงไปร่วมทีมที่อันดับสูงกว่า”

“ถ้าไม่ใช่ทีมระดับท็อปที่ได้เล่นระดับแชมเปียนส์มันมีโอกาสน้อยที่จะไม่ชนะแล้วอยากกลับมารวมตัวเริ่มกันใหม่ ไม่ค่อยมีคนแข่งแพ้ไร้อันดับแล้วจะกลับมาทำทีมต่อแล้วก็แพ้อีกครั้ง ผมว่าทีมไหนทำแบบนี้ได้ 3 ครั้ง นับว่าเก่งสุดๆ สภาพจิตใจสุดยอด หากทีมไหนลงแข่งด้วยไลน์อัพเดิมโดยไม่ติด Top 4 เลย แพ้หมด 3 ครั้งถือว่าเป็นทีมสภาพจิตใจแข็งแกร่ง ถ้าไม่เก่งก็เล่น ไม่แคร์แพ้ก็แพ้ไม่เป็นไร”

“แต่ถ้าสมมติใน 5 คน มีคนเก่งหนึ่งคนแล้วแพ้ เขาจะรู้สึกว่าทีมนี้ไม่รอด นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการ คนที่เก่งที่สุดในทีมจะหลุดออกจากทีม ถ้าไม่ออกเองก็มีคนมาชวนให้ออก เหมือนตอนผมก่อนไปอยู่กับ MiTH ในเกม Overwatch ผมเคยทำทีมกับเพื่อนมาก่อน แล้มผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งโดนดึงตัวออกไป จากนั้นตอนไปอเมริกา ผมก็ถูกดึงตัวไปอีก ทีมเลยไม่เกาะเป็นทีมเดิมก็เลยเกิดสาเหตุแบบนี้”

ประกันชีวิตหนึ่งในหลักประกันที่พร้อมให้คุณรับมือกับทุกสถานการณ์

สิ่งที่ทุกคนในทุกอาชีพไม่อยากเจอที่สุดนั่นคืออาการบาดเจ็บหรือโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกเวลา วงการอีสปอร์ตก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่า นักแข่งมักต้องใช้เวลายาวนานกับหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เพื่อฝึกซ้อมลงแข่งขันต้องทำกิจวัตรเดิมซ้ำ ๆ จนนำไปสู่อาการบาดเจ็บอย่างเลี่ยงไม่ได้

หนึ่งในเคสที่ต้องพูดถึงคืออาการเจ็บของ “ปั้น” Patiphan โปรเพลเยอร์ Overwatch ในช่วงเวลาที่กำลังรุ่งกับ Valorant แต่โดนอาการเจ็บเล่นงานข้อมือที่เรื้อรังจนต้องพักไปร่วมครึ่งปี ทำให้ X10 สังกัดเดิมในเวลานั้นได้รับผลกระทบจากผลการแข่งที่ไม่ดีนัก

Mickie
Credit:Mickie

ยังไม่รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง ซึ่งช่วงนี้การแข่งขันหลายรายการกลับมาจัดออฟไลน์ ทำให้นักกีฬาต้องเดินทางบ่อยขึ้น จึงก่อให้เหตุความเสี่ยงเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการทำประกันจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้คุณพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

“ส่วนตัวผมไม่เคยเจออาการบาดเจ็บ เพราะเป็นคนชอบอ่านข้อมูลการดูแลร่างกาย ถ้าเราทำแบบนี้จะเจออะไรในอนาคต ตอนอยู่อเมริกา ผมจะชอบลงคอนเทนต์เรื่องนี้บ่อยหรือไปหานักกายภาพบำบัดเป็นการเตรียมการไว้ก่อน แต่คนรอบผมข้างเจอเยอะ”

“เรื่องพวกนี้สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอุบัติเหตุมันเป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้ ทุกอาชีพเสี่ยงทั้งนั้นก็มากน้อยต่างกันไป ถ้าเป็น Overwatch League ที่อยู่ใต้บริษัทใหญ่อีกที จะมีประกันเหมือนนักกีฬาเป็นพนักงานคนหนึ่ง ผมจะต้องทำวีซ่าทำงานที่นั่น ผมเลยมีทุกอย่างเหมือนคนที่ไปทำงานอเมริกาจะได้มี ผลประโยชน์พวกนั้นรัฐบาลจะบังคับ ผมต้องมีประกัน และอื่น ๆ ที่บุคลากรคนหนึ่งที่ไปทำงานต่างประเทศต้องได้”

จากคำบอกเล่าของ Mickie เห็นได้ว่าการทำประกันกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นต่อทุกอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่อีสปอร์ต ซึ่งปัจจุบันการทำประกันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป อย่าง FWD ประกันชีวิตออนไลน์อันดับ 1 ที่พร้อมรับมือทุกอุบัติเหตุ ทั้งในและต่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สมัครง่ายทางออนไลน์ และพร้อมคุ้มครองทันที 

ประกันของ FWD ยังคุ้มครองทุกประเภทกีฬา และทุกอาการบาดเจ็บ โดยรับความคุ้มครองชีวิตสูงขึ้น กรณีเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกาย และอุบัติเหตุสาธารณะ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยคลายความกังวลให้กับนักกีฬาที่ไม่ต้องกังวลปัญหา และมุ่งสมาธิกับการแข่งขันได้เต็มที่

Mickie กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลร่างกายก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำได้ด้วยตัวเอง โดยถ่ายทอดเรื่องราวในสมัยเล่ย OWL ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหันมาสนใจสุขภาพจนวันนี้เรายังได้เห็น Mickie ในหุ่นที่เฟิร์ม กล้ามเนื้อเป็นมัด และซิกแพ็ค ที่มาจากความใส่ใจตัวเองของเขา

“ตอนยังอยู่อเมริกา ทีมผมจะมีคนแนะนำว่า คุณจะต้องออกกำลังกายนะ สังกัดเขาจะหา Personal Trainer มาให้ คุณจะใช้หรือไม่ใช้ก็แล้วแต่ จะมีให้ 3 วันต่อสัปดาห์ แต่มีค่าใช้จ่ายคอร์สที่แพงมาก ผมก็เลยไป ต้องบอกว่านักกีฬาอีสปอร์ตไม่ใช่คนตื่นเช้า เพราะทีมที่จะซ้อมกับเรา เขาเริ่มกันตอนค่ำ ถ้าเป็นโปรจริง ๆ ก็ซ้อมตอนบ่าย แต่ผมยอมตื่นเช้าเพื่อไปทำตรงนี้ เทรนเนอร์จะมา 9.00 น. ผมต้องตื่นเช้าไปออกกำลังกายเพื่อจะกลับมาประชุมทีมให้ทันตอนเที่ยง ผมเลือกจะทำเพราะรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ที่ดี”

“ตอนอายุ 18-19 ปี มีคนกรอกหูผมบ่อยมากว่าเดี๋ยวอายุเยอะจะรู้เองว่าน้ำหนักลงยาก จะมีพุงแน่ ๆ ตั้งแต่ตอนนั้นทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นกับผม ผมก็ไปศึกษาเรื่องนี้เลยรู้ว่าพออายุมากระบบเผาผลาญจะลดลง ถ้ากินเหมือนเดิมไม่ออกกำลังกายอ้วนแน่นอน ผมก็เลยไปออกกำลังกาย กล้ามจะไปกินพลังงาน ถ้าเรากินเยอะ กล้ามก็จะกินพลังงานไปหมด อีกอย่างสภาพแวดล้อมตอนนั้นในทีมมี 3 คน ที่ออกกำลังกายอยู่แล้ว พอซ้อมเสร็จเราก็ชวนกันไปเล่น”

อ่านเพิ่ม: ถอดบทเรียน Mickie จากวันที่ประสบความสำเร็จต่างแดนสู่โค้ช PUBG แห่งทีม Bacon