แม้อีสปอร์ตจะเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้การยอมรับที่หลายฝ่ายไม่ว่าจะเอกชนหรือภาครัฐหันมาสนับสนุนอีสปอร์ตมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมจากการไปสู่ระดับโลกในหลายเกมทั้ง RoV, Free Fire, PUBG หรือ Valorant ฯลฯ

แต่เมื่อมีผลดีก็ย่อมมีผลเสีย โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่เคยห่างหายไปจากวงการนี้อย่างคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง ที่จนถึงตอนนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในหลายเกมที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด แต่ผลร้ายที่วงการอีสปอร์ตต้องเจอมีเพียงเท่านั้นจริงหรือ?

นั่นเป็นเหตุผลที่ One Esports ต้องพูดคุยกับ ปองภพ “Mickie” รัตนแสงโชติ อดีตโปรเพลเยอร์ Overwatch ที่ปัจจุบันผันตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์ของ Bacon Time ผู้เคยผ่านประสบการณ์มาแล้วเกือบทุกบทบาท จะมาเจาะลึกถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาที่แท้จริง จนนำไปสู่หนทางแก้ไขอย่างถูกวิธีในแบบของเขา

Toxic People มะเร็งร้ายอีสปอร์ต

นักกีฬาอีสปอร์ตคือความฝันของเหล่านักเล่นเกม นี่คืออาชีพใหม่ที่ช่วยสร้างชื่อเสียง, ความสำเร็จ, เงินรายได้ และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะได้รับจากอาชีพนี้ แต่หากพูดถึงแง่ลบ นี่คืออาชีพที่ต้องยอมแลกหลายสิ่งเพื่อการเติบโต และบางครั้งก็โหดร้ายจนนำบางคนไปสู่โรคซึมเศร้า

“ผมให้เรื่องสภาพจิตใจเป็นอันดับหนึ่งในการยืดอายุนักกีฬา” Mickie เริ่มกล่าวกับ One Esports หลังถูกถามถึงสิ่งสำคัญที่จะทำให้นักกีฬาอยู่ในวงการที่ได้ชื่อว่าอายุงานสั้นให้ได้นานที่สุด ซึ่งเขามองว่าสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่อายุเหมือนเพียงอย่างเดียว

“ส่วนมากคนที่เลิกแข่งไม่ได้เกิดจากสภาพร่างกายอย่างเดียว จริงอยู่พออายุมากขึ้นก็สู้เด็กรุ่นใหม่ลำบาก นักแข่งรุ่นใหม่จะไฟแรง ซ้อมหนัก ตัดสินใจเร็ว พอคนที่อายุมากจะเริ่มคิดเยอะขึ้น คนที่เลิกแข่งส่วนมากสภาพร่างกายเขายังไหวนะ แต่เขาทนแรงกดดันไม่ไหวมากกว่า”

“ครั้งหนึ่งในทีมที่ผมเคยเล่นมีคนรับแรงกดดันไม่ไหวจนเป็นโรคซึมเศร้าต้องขอสังกัดฉีกสัญญา เงินเดือนไม่เอาแล้วก็ขอกลับประเทศตัวเองไปเลยก็มี ซึ่งมีกรณีนี้มีให้เห็นหลายคน หรือบางคนอาจเป็นประเภทที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเป็นนักแข่งแล้ว คือยังอยากแข่งอยู่ แต่ไม่เป็นมืออาชีพเขาก็ลาออกไป อันนี้เกิดจากสภาพจิตใจล้วน ๆ เคสแบบนี้ถ้าเขายังซ้อมเหมือนตอนเป็นวัยรุ่นเขาก็ยังเป็นกลุ่มผู้เล่นที่มีคุณภาพพร้อมแข่งระดับโลก แต่เรื่องจิตใจเป็นสิ่งที่บังคับยาก”

สิ่งที่เกิดขึ้นจากคำบอกเล่าของ Mickie เกือบทุกกรณีล้วนมาจากคำพูดที่สร้างความเกลียดชังหรือบุคคลที่เป็นพิษต่อผู้อื่นที่เรียกกันว่า Toxic People แน่นอนว่าไม่มีใครห้ามความคิดใครได้ ดังนั้นมันจึงเป็นปัญหาที่ไม่เคยจบสิ้น ทุกวันนี้หลายเกมพยายามออกกฎเข้มบังคับให้ผู้เล่นหรือคนดูไม่แสดงพฤติกรรมทางลบออกมาที่อาจส่งผลเสียต่อผู้อื่น ๆ แต่ปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นเสมออีกทั้งยังรุนแรงมากขึ้นอย่างที่เห็น

ยกตัวอย่างกรณีของ “ปั้น” Patiphan โปรเพลเยอร์ Overwatch ชาวไทย ที่เพิ่งพา Los Angeles Gladiators คว้าแชมป์ Overwatch League 2022 Regular Season ซึ่งในวันที่ชูถ้วยแชมป์ Patiphan ถึงกับร้องไห้ด้วยความอัดอั้น โดยเขายอมรับว่าที่ผ่านมาเจอแต่คำดูถูกคอยบั่นทอนจิตใจที่ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะทำสำเร็จ แต่สุดท้ายจบลงด้วยดีจากการพิสูจน์ตัวเอง ขณะที่บางคนอาจจบไม่ดีนักหากไม่สามารถรับมือปัญหานี้ได้

Mickie to Patiphan
Credit: Los Angeles Gladiators

“ผมเชื่อว่า น้องปั้นจะผ่านไปได้ หลังจากนี้น้องจะเปลี่ยนไปในทางใดทางหนึ่ง ทางแรกคือแข็งแกร่งไปเลย บ้านเราก็มีให้กับคนที่แข็งแกร่งต่อคำพูดด้านลบ แต่อีกด้านหนึ่งหากทำไม่ได้ก็คือเป็นซึมเศร้า แต่ไม่รู้ว่าสภาพแวดล้อมของเขาตอนนี้เป็นอย่างไร”

“ถ้าคนรอบข้างในตอนนี้ให้กำลังใจในทางที่ถูกก็จะไม่ไปทางซึมเศร้า แต่ถ้ารอบข้างไม่สนใจเขาเลย ระบายให้ใครฟังไม่ได้ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นซึมเศร้า ซึ่งในทีมที่ผมเล่นก็มีคนเคยเป็นซึมเศร้า เพราะกระแสมันรุนแรงมากจริงๆ”

“ผมไม่เคยคิดว่า เกมเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางกลับกันผมก็ไม่เคยคิดว่าเกมเป็นสิ่งที่ไม่ดี เกมก็อยู่ของมัน  เกมคือเกมสื่อชนิดหนึ่งที่ให้ความบันเทิงไม่ต่างจากกีฬา สื่อภาพยนตร์หรืออะไรก็ตาม แต่ที่ไม่ดีเพราะคนใช้เวลากับมันมากไป ขาดความรับผิดชอบ แบ่งเวลาไม่ถูก เกิดจากตัวบุคคลไม่ใช่สื่อนั่นคือปัญหาใหญ่ แต่สื่อมักตีแผ่เกมในด้านลบใส่ทุกอย่างเข้ามาหมด แต่ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่โตขึ้น เด็กที่โตมากับเกมเขาจะรู้ว่ามันไม่ได้เรื่องดีด้านเดียว ถ้าเล่นเกมมากเกินไปมันส่งผลลบอยู่แล้ว”

“ลองคิดเล่นๆว่า ถ้าเตะบอลทั้งวันไม่ส่งผลลบตรงไหน เล่นดนตรีทั้งวันไม่ทำอะไรเลย ดูซีรีส์ทั้งวันก็เหมือนกัน แต่ด้านลบมันถูกส่งมาที่เกมซะเยอะ ปัจจุบันผู้ปกครองจะเกิดความสงสัยและเข้ามาถามว่าอีสปอร์ตมันคืออะไร เกมมันเป็นอย่างไร เขามาดูมาศึกษาก่อนว่า มันเป็นอย่างที่เขาว่าจริงไหม ถ้าลูกอยากเป็นนักกีฬาต้องทำอย่างไร ซึ่งต่างจากอดีตที่คงจะบอกว่า ลูกเขาจะไม่ติดเกมแน่นอน มันทำให้ตอนนี้คนเล่นเกมมีจุดยืนมากขึ้น”



แก้ยาก แต่ป้องกันได้

“ตอนเราแข่งชนะอะไรมันก็ดี แฟนคลับชอบ คนติดตามมากขึ้น แต่พอแพ้ ฟอร์มไม่ดีฝีมือตกมันคนละเรื่องทันที” Mickie เล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำที่เคยถูกโจมตีจากคำพูดในวันที่ผลงานไม่เป็นไปตามที่หวัง

“เวลาฟอร์มไม่ดีจะเจอคำพูดที่ว่า ทำไมเล่นได้แค่นี้ ฝีมือแค่นี้ทำไมได้อยู่ทีมนี้ทำไมไม่ออกจากทีม อยู่เป็นตัวถ่วงทีมไปทำไม ผมเจอแบบนี้ทุกสตรีมสมัยแข่ง OWL ซีซั่นแรกผมแพ้เยอะมาก ทุกครั้งที่ผมสตรีมจะเจอแต่เรื่องแบบนี้ซ้ำ ๆ ตลอด คนให้กำลังใจก็มี แต่ความเป็นจริงของมนุษย์ชอบเรื่องดราม่า”

หลังถูกถามถึงคำวิจารณ์ที่เคยเจอมากับตัวตอนเป็นนักแข่ง Mickie หัวเราะออกมาทันที เพราะสิ่งที่เขาเคยเจอสาหัสไม่ต่างกัน คำพูดที่ว่า “คำวิจารณ์จะทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น” นั้นไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเกราะป้องกันในมุมมองของ Mickie คือต้องทำความเข้าใจถึงแก่นของปัญหาอย่างแท้จริงเพื่อนำไปสู่ทางออกที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีเพียงคำพูดหรือข้อคิดปลุกใจสวยหรู ซึ่งอาจไม่เป็นวิธีแก้ไขที่ถูกต้องนัก

“ผมใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจสิ่งหนึ่งที่เคยมีผู้ใหญ่บอกผมว่า โลกนี้ถ้ามีคนมาติดตามเรามากขึ้น จำนวนคนที่รักเรามันก็เพิ่ม แต่ขณะเดียวกันคนที่เกลียดเรามันก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน สมมติทั้งโรงเรียนมี 100 คน มีคนชอบในความน่ารักของเรา 90 คน อิจฉา 10 คน ซึ่งมีคนเกลียด 10 คน เราไม่รู้สึกแย่ขนาดนั้น แต่คิดสภาพว่า เรามีแฟนคลับหนึ่งล้านคน 10% คือคนที่ไม่ชอบเรา เท่ากับคนจำนวนหนึ่งแสนคนที่เราต้องเจอ นั่นคือสิ่งยากที่จะรับได้”

“แต่ถ้าเราเริ่มเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วทุกคนต่างพ่อต่างแม่ต่างสภาพแวดล้อม ดังนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดในมุมของตัวเอง บางคนอาจเกินขอบเขต แต่สิ่งที่เราควรรู้คือเราควบคุมอะไรไม่ได้ นั่นคือความคิดคนอื่น พอผมได้เข้าใจจุดนี้ ในเมื่อเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันตัวเองได้ ผมก็ยังอ่านคอมเมนต์บ้างนะ แต่ไม่ได้รู้สึกแย่ไปกับมัน”

Mickie ยอมรับว่า ความรู้สึกของมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อนเกินไป ทำให้บางครั้งอาจไม่รู้ว่าควรมีปฏิกิริยากับคำพูดนั้น ๆ อย่างไร การแยกแยะอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควร

“ที่อเมริกา มีคำที่เขาเรียกว่า End word คนไทยเราเฉย ๆ กับคำนี้ไม่ได้รู้สึกเหยียดเชื้อชาติหรืออะไรเลยก็เพราะเราไม่ได้ถูกปลูกฝังแบบบ้านเขาหรือมีประวัติศาสตร์แบบที่นั่น บ้านเราก็แค่คำพูดคำหนึ่ง แต่ถ้าเป็นที่อเมริกา ถ้าไม่ติดคุกก็ต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้น ผมรู้สึกว่าตรงนี้มันเป็นเพราะเราคุมความรู้สึกตัวเองไม่ได้”

“ถ้าคนหนึ่งเจอคำพูดแง่ลบ คนคนนั้นกำลังเป็นซึมเศร้ารู้สึกแย่มาก ๆ แล้วเราเดินไปบอกว่ามันก็แค่คำพูด แต่มันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นนะ ถามว่าเขาจะรู้สึกดีขึ้นไหมก็ไม่ดีหรอก เพราะเรื่องแบบนี้มันต้องใช้เวลา และการเลือกคำพูดที่ถูกต้อง สำคัญคือต้องเรียนรู้การรับมือให้ถูกวิธี”

อ่านเพิ่ม: เหมือน Faker! Mickie ยก Patiphan ว่าที่ตำนานของจริง