ของไร้ประโยชน์ , ไม่มีสาระ , อาชีพลมๆแล้งๆ นี่เป็นเพียงบางคำที่เกมถูกครอบงำความคิดด้านลบ ขจัดแง่บวกที่มีออกไปจนหมดสิ้นเพียงเพราะคำว่า “เกม” เปรียบเหมือนกำแพงใหญ่ที่ปิดกั้นความเข้าใจของสังคมมาโดยตลอด



ในวันที่เกมยังไม่ได้การยอมรับจากสังคม โอกาสเติบโตทำให้คนเข้าใจ และสร้างเป็นอาชีพแทบเป็นศูนย์ แต่ KirosZ หรือ “อาร์ท” – วีระศักดิ์ บุญชู นักพากย์เกม FPS(First-person shooter) คือหนึ่งในคนที่เชื่อว่า เกมต้องไปได้ไกลกว่านี้ แม้จะไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่ทำ แต่เขาเลือกที่จะมอบจิตวิญญาณกับช่วงเวลาเกือบครึ่งชีวิตให้กับสิ่งนั้นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้

อะไรคือสิ่งที่ปลุกไฟให้เขาก้าวเดินบนเส้นทางที่เลือกด้วยความเชื่อมั่น ช่วงชีวิตการเติบโตของเขาจากที่เป็นเพียงนักข่าวมาสู่บทบาทนักพากย์ชื่อดังได้อย่างไร One Esport จะขอพาคุณไปรู้จักเรื่องราวของเขาอย่างละเอียด

โลกที่ขับเคลื่อนด้วยเกม

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบเกมแนวยิงปืน อาจคุ้นชื่อของเว็บไซต์ FPS Thailand.com ซึ่งเปรียบเสมือนสังคมคนเล่น FPS มีทั้งข่าวสาร และการแข่งขันในวงการให้รับทราบข้อมูล ที่นี่เองคือจุดเริ่มต้นของ อาร์ท กับการสร้างตัวตนของวงการเกม

“ผมเริ่มจากเขียวข่าว แปลข่าวจาก Counter Strike ลงเว็บไซต์ fpsthailand.com” อาร์ท เท้าความก้าวแรกในวงการนี้

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักพี่แว่น(บาส–ชนิกนันท์ ทิพย์ไพโรจน์ ผู้ก่อตั้ง fpsthailand.com และทีม MiTH) ผมเขียวข่าวเกม FPS แกก็ดึงขึ้นหน้าเว็บไซต์รายวัน เริ่มต้นด้วยเวลามีอีเวนท์อย่าง Point Blank ชิงแชมป์ประเทศรายเดือน ผมจะต้องวิ่งไปทำข่าว ถ่ายรูปเขียนข่าวใครเจอใคร”

“ตอนนั้นก็พอมีรายได้ประปรายในตอนแรก แต่ช่วงเริ่มต้นก็มีผลกระทบกับครอบครัว เพราะเขามองว่า งานที่เราทำอยู่มันไม่ได้มั่นคงเลยจะให้ทำงานประจำเพราะญาติทำอยู่ในเครือ CP เคยมีช่วงหนึ่งที่ผมไปยื่นใบสมัครเอาไว้ แต่พอเขาจะเรียกไปคุย เรานั่งทบทวนตัวเองแล้วรู้ว่า เราไม่อยากทำงานประจำที่จำเจแบบนั้น เลยมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ให้มันเป็นหลักเป็นฐานมากขึ้น”

จากวันที่เริ่มต้น แม้ผลตอบแทนจะไม่ได้มากมาย แต่ อาร์ท ไม่ได้มองว่า นั่นคือเรื่องสำคัญ เงินจึงไม่ใช่ปัญหาที่จะทำให้ลังเลอยากจะทำสิ่งที่ชอบต่อไป เขาเพียงมองว่า แค่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เลี้ยงตัวเองไปวันๆก็เพียงพอแล้ว

“ผมโชคดีที่ไม่ถึงขั้นมีหนี้มีสิน ไม่ต้องใช้เงินเยอะเอาแค่หล่อเลี้ยงตัวเองในแต่ละวันก็โอเคแล้ว ตอนนั้นยังวัยรุ่นมันก็ไม่ได้คิดถึงอนาคตไกลมาก”

วิถีเกมเมอร์

แม้อาชีพนักข่าวสายเกมจะเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในวงการนี้ แต่ด้านหนึ่งเขาก็เคยเติบโต และเข้าสู่วงการในฐานะนักแข่งเกมด้วย

“ผมเริ่มจากเล่นเกมอยู่บ้านแล้วก็เล่นที่ร้านเกมมันทำให้เราได้แข่งขันกับเพื่อนในร้านอย่างเกม Counter Strike จนเพื่อนพามาให้รู้จักรายการ WCG 2005 (World Cyber Games) ว่ามีแข่งที่กรุงเทพ”

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักกับรายการอีสปอร์ต แต่ตอนนั้น Counter Strike ไม่มีทีมที่จะไปแข่งได้ ผมเลยเปลี่ยนไปจับ Need for Speed(เกมแข่งรถชื่อดัง) ซึ่งเป็นเกมแรกที่ผันตัวมาซ้อมมาแข่ง นั่งรถตู้จากลพบุรีมาแข่งที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในรอบคัดเลือก  นั่นคือจุดเริ่มต้นแรกที่เปิดโลกกว้างของผม”

จากเด็กต่างจังหวัด อาร์ท เปิดประสบการณ์กว้างขึ้น มีทัวร์นาเมนต์แข่งขันเป็นทางการ มีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะ เขาได้พบความท้าทายที่ทำให้เส้นทางนี้สนุก ตื่นเต้นตลอดเวลาจุดไฟในตัวจน และเกือบทำให้ก้าวเป็นตัวแทนประเทศไทยสู่เวทีระดับโลกมาแล้ว

“ผมมีโอกาสติดเป็นตัวแทนภาคกลาง แต่ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้น หากผมตกรอบก็คิดว่า น่าจะพอแล้วกับวงการนี้ แต่พอได้เป็นตัวแทนก็เลยกลับไปซ้อมเพื่อกลับมาแข่งใหม่ กลายเป็นว่าพอเป็นตัวแทนมันทำให้เรารู้จักกับคนมากขึ้นจนได้ต่อยอดตรงนี้”

ช่วงปี 2005-2007 อาร์ทได้ลงแข่งขันเกม Need for Speed ต่อเนื่อง ก่อนจะกระโดดสู่ FIFA Online ในปี 2008 ที่เกือบได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ประเทศเยอรมัน แต่กลับแพ้นัดชิงชนะเลิศ จากนั้นปี 2010 เขาทำความฝันสำเร็จ เมื่อถูกคัดเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขัน FIFA Online ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรก และกลายเป็นสิ่งที่จุดไฟในตัวให้เขาอยากต่อยอดตัวเองในวงการเกมมากขึ้น

เป็นเวลาเดียวกับที่พี่แว่น กำลังสร้างทีมอีสปอร์ต ตอนนั้น อาร์ท ทำงานร่วมกับเว็บไซต์ FPS Thailand มาก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนที่ทั้งคู่จะให้กำเนิดทีมอีสปอร์ตที่ดีที่สุดทีมหนึ่งของไทยในนาม MiTH…

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง MiTH 

“ตอนนั้นพี่แว่นเป็นพนักงาน Asiasoft ทำในเรื่องนี้อยู่แล้ว” อาร์ท เล่าถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การก่อตั้งทีม MiTH “มีวันหนึ่งเขาพาทีมไปแข่งรายการหนึ่งที่มาเลเซียแล้วไปเห็นโลกกว้างทีมอื่นมีเสื้อแข่ง มีสปอนเซอร์ เวลายืนถ่ายรูปหรือตอนแข่ง มันดูมีพลัง พอกลับมาไทยเขาก็ยกหูหาพี่หนุ่ม ซุนวู ทันทีว่าทำทีมอีสปอร์ตต้องมีอะไรบ้าง” 

ในยุคเริ่มต้น การขอสปอนเซอร์หาผู้สนับสนุนหรือจะทำให้คนสนใจเกม เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเกมจากสิ่งไร้ประโยชน์ว่า มันเป็นอาชีพได้จริงคือเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา แต่สิ่งที่ทำให้ อาร์ท และ MiTH เติบโตต่อเนื่องเป็นเพราะ พวกเขาไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านั้น เพราะหวังทำในสิ่งที่อยากทำเท่านั้น

“จริงๆการสร้างทีมของเราในตอนนั้นไม่ได้มีแนวทางอะไรหรอก นอกจากคำของพี่หนุ่ม ที่เหลือมาจากเซนส์ของพี่แว่นล้วนๆ เราไม่ได้สนใจในวงกว้างว่า เขาจะมองเกมอย่างไร แต่ตัวผมเองสิ่งยึดเหนี่ยวคือ ในแต่ละปีเราจะเล่นเกมนี้เพื่ออะไร เราไม่ได้ต้องการทำให้คนอื่นเข้าใจเรา เราแค่ต้องการทำในสิ่งที่เราต้องการทำ”

“พวกผมเดินหน้าลุยไม่มีแวะสนใจใคร แต่ไม่ใช่จะเติบโตได้เร็ว เราจะทำทัวร์นาเมนต์รายเดือนเพื่อกอบกู้สังคมคนเล่นเกมนี้กลับมาอีกครั้ง ตอนนั้นที่เราโฟกัสก็มี Point Blank , SPECIAL FORCE”

“ตอนนั้นที่ทำทัวร์นาเมนต์ Point Blank ก็เอาไปเสนอขายเพื่อสร้างสังคมของผู้เล่นหน้าใหม่ๆเข้ามา จนตอนนั้นผู้เล่นหน้าใหม่เข้าแข่งขันจนได้เป็นตัวแทนประเทศเราได้เห็นตั้งแต่เขาเป็นโนเนมพอแข่งรายการใหญ่ก็ติดรอบชิงแล้วได้แชมป์ประเทศอีก มันทำให้เรารู้สึกว่า Community คือเรื่องสำคัญ และมองว่ามันคือผลผลิตที่เราทำกันมา เราไม่ได้ต้องการทำเพื่อให้ภาคเอกชนหรือรัฐเห็นแล้วมาช่วยลงทุน “

“ฉะนั้นเราไม่ได้รู้สึกเหนื่อยเลย แค่ทำให้ตัวเองมั่นคง ทำให้น้องๆในวงการได้มีเวทีแข่งขันแค่นั้นก็พอแล้ว…”

FPS Thailand และ MiTH กลายเป็นรากฐานต่อยอดให้วงการเกมเติบโตขึ้น ขณะเดียวกัน อาร์ท ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ผ่านเกือบทุกบทบาทในวงการทั้ง นักข่าว , ผู้จัดการแข่งขัน , เกมเมอร์ ก็ถึงจุดหนึ่งที่ความท้าทายพุ่งเข้าหาอีกครั้ง เมื่อได้รับโอกาสสัมผัสงานพากย์ครั้งแรก

สู่นักพากย์เกม

“ตอนที่ได้มีโอกาสพากย์เกมครั้งแรกเป็นรายการที่พวกผมทำกันเองคือ Point Blank และ  SPECIAL FORCE ช่วงนั้นพี่แว่นเริ่มทำไม่ไหวบางทีภาค 4-5 วันติดกัน” อาร์ท เล่าย้อนถึงวันที่สัมผัสบทบาทนักพากย์เกมครั้งแรกในชีวิต

“วันที่ผมได้พากย์แกพูดไว้แต่เช้าแล้วว่า ถ้าเขากลับมาไม่ทันให้เราเตรียมพร้อมไว้หน่อย พอดีมันเป็นเกมที่เล่นอยู่แล้วอย่าง PB และ SF เลยไม่ยาก นี่คือจุดเริ่มต้นการพากย์ของผม หลังพากย์ไปเรื่อยๆกลายเป็นว่าเจ้าใหญ่ๆเห็น เพราะคนพากย์ไม่ได้หาง่ายๆ พอมีคนรู้จักก็เรียกใช้งานได้ง่าย หลังจากนั้นผมได้พากย์รายการหลักของ SF2 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อยอดงานพากย์ไปจนถึง PUBG(PlayerUnknown’s Battlegrounds)”

ด้วยงานพากย์ที่เข้ามามากขึ้น ทำให้เวลาฝึกซ้อมหรือแข่งขัน FIFA Online ของตัวเองลดน้อยลง อาร์ท ตัดสินใจ ยุติบทบาทนักแข่ง และเริ่มต้นใหม่สู่การเป็นนักพากย์เต็มตัวเพื่อเต็มที่กับสิ่งที่ทำ ถือเป็นความโชคดีของเขาที่ก่อนหน้านี้ อาร์ท เคยจับงานรีวิว ซึ่งใช้สกิลการพูดเหมือนกัน งานพากย์จึงไม่เกินเลยความสามารถ แต่ยังคงเจอสิ่งที่ยากท้าทายเขาในเส้นทางนี้อยู่เสมอ 

“จุดยากสุดของงานพากย์ไม่ใช่ช่วงบรรยายเกม แต่มันจะไปยากตอนเปิดรายการทักทายคนดู” อาร์ท กล่าวต่อ “เราต้องอธิบายว่า วันนี้ใครเจอใคร มันเป็นช่วงที่ต้องคิดคำพูดข้อมูลในหัวตลอดเวลา แต่สำหรับผมไม่ได้ปรับตัวยาก เพราะมันเป็นเกมที่คุ้นเคยอยู่แล้ว แผนที่การเล่น ชื่อทีม ผู้เล่น ลักษณะการแข่ง ผมคุ้นเคยอยู่แล้วจึงพูดได้เป็นธรรมชาติ”

“แต่ถ้าย้อนกลับไปดูคลิปตัวเองในตอนนั้นก็แบบบ้านๆ การพูด น้ำเสียงก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เราก็ปรับมาเรื่อย โชคดีที่ตอนนั้นไม่ใช่วงกว้าง พอทำทัวร์นาเมนต์กลุ่มเราเอง เขาก็ยอมรับเราอยู่แล้วเกินครึ่ง ที่ยากคือการพากย์เกมใหม่ รายการใหม่ ความยากคือต้องทำให้คนไม่รู้จักเราต้องรู้จักเราให้ได้”

ชื่อของ KirosZ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการ FPS แต่เขามองว่า ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะเกมใหม่ๆกับรายละเอียดแตกต่างจากที่เคยมี เรื่องนี้มีผลต่อการตัดสินใจรับงานพากย์ของเขาด้วย 

“ผมจะไม่รับงานพากย์กับเกมที่ไม่ถนัด ผมจะรับแค่งานที่รู้ และเข้าใจ เล่นจริงเช่น PUBG แต่ตอนพากย์ PUBG Mobile ก็ไม่ง่าย เพราะบางอย่างมันแตกต่างไปจากบน PC ถ้าเรามั่วมันกลายเป็นโดนด่าทันทีว่าไม่รู้จริง ฉะนั้นการเตรียมตัวอาจจะเตรียมหน้างานแล้ว แต่ต้องเตรียมพวกชื่อทีม ,สปอนเซอร์ ,สัญชาติทีมนั้นๆ รวมถึงกฎอธิบายคนดู นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมสำหรับเกมที่ไม่รู้จักเพื่ออธิบายให้คนภายนอกเข้าใจ”

“ที่ยากอีกก็มีตอน VALORANT มันเป็นเกมใหม่ที่มีทั้ง Map , Agent , Skill ซึ่งมันต่างจากเกมยิงเมื่อก่อนที่มีแค่ปืนอย่างเดียว แต่กับ VALORANT ปืนก็ไม่ซ้ำกับเกมทั่วไป ต้องทำความเข้าใจใหม่หมด”

“การเตรียมตัวของผมคือจะมีกระดาษแผ่นหนึ่งจดรายละเอียดของปืนแต่ละแบบ อีกแผ่นหนึ่งเป็นข้อมูล Agent ถ้านึกไม่ออกก็เหลือบตาไปดู ว่าตัวนี้คืออะไร สกิลอะไร ก็เครียดเหมือนกันนะ เพราะตอนนั้นเป็นรายการแข่งระดับประเทศคนดูก็เยอะมาก”

อย่างไรก็ตามความพยายามทำการบ้านอย่างหนัก ใส่ใจกับงานทุกครั้งก็ทำให้ อาร์ท ผ่านความท้าทายได้เสมอ…

KirosZ

พากย์ผิดชีวิตเปลี่ยน

ไม่มีมนุษย์คนไหนไม่เคยทำผิดพลาด โดยเฉพาะงานพากย์ที่เรียกว่าเกือบ 100% นักพากย์ทุกคนต้องเคยผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น เช่นเดียวกับ อาร์ท ที่เคยทำพลาดในงานพากย์ของเขาจนถูกแฟนๆก่นด่าสารพัด แต่เขาเลือกเก็บคำเหล่านั้นเป็นบทเรียน และยอมรับผิดในสิ่งที่ทำด้วยใจจริง

“ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยอ่านชื่อเกมผิด แต่ความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆมีมาเรื่อย ล่าสุดเกม PUBG PCIS (PUBG Global Invitational.S) ที่คนดูได้ถึง 9 ช่องทางมีจำนวนคนดู 4-5 หมื่นคน จังหวะตีวงผมดันพูดว่าตุ๊ด ประมาณว่า “โอ้โหท่านผู้ชมครับ วงแบบนี้ผมบอกเลยว่า แต่ละทีมเนี่ยเล่นกันแบบตุ๊ด” สักพักผมได้สติกับการพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด”

“หลังจากผมหลุดพูดไปช่องแชทก็ขึ้นมาเป็นกำแพงเลยว่า ผมเหยียดเพศ ไอ้โง่ ไอ้ควาย พูดคำไม่ควรใช้ ผมก็จดไว้แล้วว่า จบรายการจะพูดขอโทษเรื่องนี้ พอจบการแข่งขันกล้องตัดมาที่หน้าผม”

“ผมยกมือขอโทษในสิ่งที่พูดไปเมื่อสักครู่ว่าเราใช้คำที่ไม่ควรใช้ ด้วยความที่เป็นรายการสด ช่องแชทที่เขาได้ยินเรา เขาก็ตอบสนองได้ทันที เป็นโอกาสให้เราได้แก้ไขมัน ส่วนเรื่องอื่นคำพูดผิดพูดหลุดก็มีบ้าง แต่มันก็กลายเป็นช็อตฮาไป”

เหตุการณ์ผ่านพ้นไปด้วยดี แต่ครั้งหนึ่งเขาเผชิญความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตจนถึงขั้นตัดสินใจขอยุติเส้นทางนักพากย์ไว้เท่านี้ เพราะสิ่งที่เขาทำลงไปไม่เพียงแต่กระทบต่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายถึง MiTH ด้วย

“ย้อนกลับไปตอนพากย์รายการ OGN(รายการแข่งขัน PUBG) ที่เอาผู้เล่นมาแข่งออฟไลน์เพื่อถ่ายทอดในสตูดิโอ แมตช์นั้นเป็นแมตช์ที่ MiTH เล่น ผมอินเนอร์หนักไปหน่อยเลยตะโกนว่า ต้องระวังหลังนะครับ MiTH หลังเข้าเอานะ พอพูดไปมัยดูเหมือนผมจงใจตะโกนบอกทีม ทีมก็ได้ยินเลยพูดหลุดออกมาว่า พี่อาร์ทบอกหลังเข้า จากนั้นมีฟีดแบคร้ายแรงมากถึงขั้นตั้งกระทู้ด่าผมว่า แม่งทำแบบนี้ไม่สมควร”

“เคสนี้ถือว่าหนักสุดตั้งแต่พากย์มาเลย ผมแทบจะขอทางรายการหยุดพากย์แค่ตรงนี้ เพราะทางเกาหลีมีบทลงโทษมาว่า ถ้าเป็นแบบนี้เขาจะตัดสิทธิ์ทีม MiTH ออกจากการแข่งขันด้วย ผมก็ยื่นอุทธรณ์ไปว่ามันพลาดที่ตัวผมเอง ถ้าต้องตัดสิทธิ์ MiTH ขอแค่ขึ้นทัณฑ์บนตักเตือนก็พอ ส่วนผมขอถอนตัวดีกว่า แต่ทางออแกไนซ์ เขาคุยกับฝั่งเกาหลีได้ก็เลยเคลียร์ไป”

ความผิดพลาดในครั้งนั้นกลายเป็นแผลใหญ่บนเส้นทางนักพากย์ของอาร์ท มันทำให้เขารู้ว่า สิ่งที่ทำลงไปส่งผลกระทบวงกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเอง แต่เมื่อได้รับโอกาสใหม่ เขาก็พร้อมเดินหน้าต่อไป โดยระวังการพูดมากขึ้น

“เรื่องนี้มันทำให้ผมรู้ว่า สิ่งที่ทำลงไปมันส่งผลกระทบหลายด้าน สิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว ไม่ว่าจะโดนตั้งทู้ด่า อินบ็อกมาด่า อย่างแรกที่ต้องรับมือสำหรับนักพากย์หน้าใหม่คือ ต้องยอมรับความจริงว่า เราพลาดนะ สิ่งไหนที่เขาเตือนแล้วมันจริงก็นำมาแก้ไข แต่อะไรที่ด่าสาดเสียเทเสียช่างมันไป ถ้าแก้ไขจุดผิดพลาดได้ ผมเชื่อว่ามันจะหล่อหลอมให้เราดีขึ้น”

“โลกนี้ไม่มีใครเพอร์เฟค ฉะนั้นต้องเตรียมตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ทุกวันนี้แม้จะได้ชื่อว่า เป็นนักพากย์อันดับต้นๆ แต่ อาร์ท ยังคงเรียนรู้อย่างไม่หยุดหย่อนในทุกวัน เพราะรู้ดีว่า โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นจึงมีสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้อยู่เสมอ…

มุมมองต่อการเติบโตอีสปอร์ตเมืองไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีสปอร์ต เติบโต และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแต่ละปีจะมีเกมใหม่ขึ้นมาแทนของเดิมเสมอ ตามมาด้วยทัวร์นาเมนต์แข่งขันชิงเงินรางวัลตั้งแต่ระดับประเทศสู่เวทีชิงแชมป์โลก

ขณะเดียวกันอีสปอร์ตในไทยที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นการแข่งขันเกมรายการต่างๆถูกผลักดันขึ้นมามีบทบาทในสังคมวงกว้าง อาร์ท ในฐานะผู้อยู่ในยุคบุกเบิกก็ยอมรับว่า ทุกวันนี้อีสปอร์ตเติบโตในแบบที่เขาเคยหวังไว้ 

“ถ้าถามว่า ตามที่หวังไหมก็เป็นไปตามที่หวัง อาจไม่ได้รวดเร็วมากซึ่งจริงๆมันก็ไม่ควรเร็วมากอยู่แล้ว ควรค่อยๆเป็นค่อยๆไปเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น แต่ทุกอย่างเริ่มเป็นในแบบที่ผมคิดไว้คือเริ่มเป็นที่สนใจจากสื่อ มีแบรนด์แมสเข้ามาสนใจช่วยซัพพอร์ททีม มีคนดูเยอะขึ้น เงินรางวัลมาตรฐานก็สูงขึ้น”

“ลองนึกภาพการแข่งขันตัวแทนประเทศในยุคก่อน เงินรางวัลแค่ 5,000 บาท นั่นคือรางวัลของแชมป์นะ แต่ยุคนี้ขึ้นไป 200,000 บาท แล้ว นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น และเป็นแบบที่ผมคาดหวังไว้”

ไม่ใช่แค่ที่กล่าวมาเท่านั้นที่ทำให้ อีสปอร์ต เติบโตขึ้น แต่เขายังมองว่า รูปแบบการจัดการแข่งขันรายการต่างๆคือส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเติบโตอย่างมั่นคง และดึงดูดทั้งนักแข่ง , สปอนเซอร์ , คนดู มายิ่งขึ้น

“ผมมองว่า รูปแบบจัดการแข่งขันสมัยนี้มันสนุกขึ้นมากนะ ยกตัวอย่างออแกไนซ์ที่จัดงานเขาไม่หยุดนิ่ง ที่จะออกแบบรายการแข่งใหม่ๆตลอดเวลา ทำให้มีผลต่อผู้ชมมากๆ การเปลี่ยนรูปแบบหรือดีไซน์เส้นทางการแข่งมันทำให้การรับชมเกมสนุกขึ้น”

“อย่างเกม Counter Strike ในยุคก่อนจะเอาผู้ชนะเจอทีมชนะด้วยกัน ส่วนใครแพ้ตกรอบไปเลย แต่ตอนนี้พัฒนาแล้ว ให้ทีมชนะเจอทีมชนะ ส่วนทีมแพ้ลงมาเจอแพ้ หลังจากนั้นแบ่งกลุ่มทีม 4 ทีม เอาทีมชนะเจอชนะ แพ้เจอแพ้ แล้วทีมที่ชนะในสายแพ้จะเจอผู้ชนะจากสายชนะ”

“คือถ้าเป็นแต่ก่อน 4 ทีมในกลุ่ม หากมีทีมไหนห่วยมันเหมือนทีมแจกแต้มแต่พอเปลี่ยนรูปแบบมันจับก่อนว่าใครเจอใคร แล้วหากชนะก็ไปเจอกับทีมชนะ ใครชนะในสายชนะก็เข้ารอบเลย แต่ใครที่แพ้ในสายชนะต้องมาเจอผู้ชนะในสายแพ้มันกะทัดรัดไม่แจกแต้มเกิดจากความแกร่งที่แท้จริงใครแกร่งเข้ารอบก่อน ส่วนทีมที่ยังไม่ผ่านก็ต้องแข่งเพิ่มเจอทีมอื่นต่อ”

ด้านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการอื่นๆก็เช่นกัน อาร์ท ในฐานะผู้อยู่ในยุคบุกเบิกอีสปอร์ตมองว่า มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสื่อสารให้สังคมเข้าใจ และทำให้วงการอีสปอร์ตเกิดการพัฒนามากขึ้น เช่น Online Station ที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของวงการนี้มาตลอด

“Online Station เขามีความหลากหลาย เป็นองค์กรที่แข็งแกร่งมาตลอด 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร เว็บไซต์ ตอนนี้มีแพลตฟอร์มดูแลสตรีมเมอร์ด้วย สำหรับผมการมี Online Station เป็นเหมือนจุดใหญ่ที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารของวงการเกม ใครอยากรู้ความเคลื่อนไหว อัพเดทอย่างไร มีดาราคนไหนที่เป็นสตรีมเมอร์ในสังกัดก็สามารถเข้ามาดูในออนไลน์ Online Station ได้ เป็น Hub ในวงการเกม”

“เขาสามารถนำเสนอในวงกว้างได้ สามารถพาอินฟลูเลนเซอร์ หรือ สตรีมเมอร์ในสังกัดไปให้คนอื่นรู้จักกับแบรนด์ใหญ่ๆได้ เพราะเป็นยุคของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดรายได้มั่นคงต่อคนๆนั้น บางทีอาจชีวิตพลิกผันภายในปีเดียวเลยด้วยซ้ำ”

ทำลายแพง “เกม”… สิ่งที่อยากบอกถึงอีสปอร์ตไทย

แน่นอนว่าเกม กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มั่นคงอย่างมากในปัจจุบัน และเป็นวงการที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทย ทว่าสิ่งที่ไม่เคยหลุดพ้นจากความคิดของสังคมวงกว้างหรือคนที่ยังไม่เข้าใจคือ เกม = สิ่งไม่ดี

จะเห็นได้ว่าตามหน้าข่าวที่มีเนื้อหาสลดหดหู่ มักอ้างอิงถึงเกมที่ทำลายชีวิตคนๆหนึ่ง ในขณะที่อีกหลายๆคนที่ชื่นชอบเกม เล่นเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องอื่น หรือคนที่ก้าวสู่ระดับอาชีพ แต่กลับทำตัวไร้ความเป็นมืออาชีพ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สร้างให้คำว่า เกมกลายเป็นกำแพงใหญ่ที่ไม่ถูกทำลายลงเสียที

“สำหรับผมอีสปอร์ตไทยไม่ได้เติบโตยาก เพียงแต่มันเติบโตในวงกันเอง” อาร์ท เริ่มกล่าวต่อ “อีสปอร์ตเป็นวงการหนึ่งในสังคมเหมือนคนเล่นไอซ์สเก็ตก็คือวงการเขา เราอาจไม่ได้รู้จักว่าเขาคือใคร ถ้าเราไม่ได้เอาตัวเองเข้าวงการนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้มันโตช้า ผมเชื่อว่าเกมคือกำแพงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสังคมวงกว้างที่จะสนใจมัน”

“เราไม่อยากโทษผู้ใหญ่เป็นอย่างแรก แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกทุกคนจริงๆถ้ามีโอกาสคือ ตัวเราเอง , ตัวเกมเมอร์ , คนดู ,นักแข่ง คุณต้องทำตัวเองให้มีคุณค่าก่อน คุณต้องสร้างมูลค่าให้ตัวเองเ้วยการพาตัวเองมีชื่อเสียงจากการแข่งขัน รวมถึงจากรูปร่างหน้าตา จากบุคลิก คำพูดคำจา ทุกอย่างมันหล่อหลอมให้เกิดความสมบูรณ์แบบของภาพลักษณ์ต่อวงการเกม เพราะถ้าเราพูดขึ้นมาว่าเกม ผมเชื่อว่าไม่มีใครคิดบวกในสังคมตอนนี้ มันก็คือการปรับภาพหลัก เริ่มจากพื้นฐานให้มันดีก่อน และผมเชื่อว่ามันไม่หยุดแค่นี้”

“10 ปี ที่ผมทำมาวงการเกมมันโตขึ้นทุกปี เงินมากขึ้นทุกปี มันไม่รู้สึกเหนื่อยและหยุดพัฒนา แม้กระทั่งปีนี้ผมรู้สึกว่า มันมีพาร์ทเนอร์ที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ผ่านๆมาเข้ามาสนับสนุนด้วยซ้ำ”

อนาคตในวันที่ไม่มีเกมอยู่ในชีวิต

“เป็นไปได้นะครับ” อาร์ท ตอบทันทีเมื่อถูกยิงคำถาม เป็นไปได้ไหมหากวันหนึ่งต้องใช้ชีวิตโดยไม่มีเกม หลังทุ่มเทกับมันมาเกือบครึ่งชีวิต

“แต่ตอนนี้ผมวางรากฐาน MiTH และ FPS Thailand ให้เป็นระบบ ตอนนี้พี่แว่นเองทำแบรนด์เสื้อผ้า มันก็เป็นหนึ่งสิ่งที่นอกเหนือวงการเกม แต่ก็มีสัดส่วนเกี่ยวกันกับเกมคือทำเสื้อแข่งทีม ทำเสื้อผ้าที่เกี่ยวกับเกม ตลาดก็อยู่ระหว่างเกมกับแมสนี่แหละ”

“ตัวผมเองอิ่มตัว แต่ไม่ได้เบื่อเกมนะ เพราะอยู่กับมันมาเต็มที่หมดแล้วตั้งแต่เริ่มจนรู้วิธีการทั้งหมด เลยคิดอยากจะทำต่อยอดอย่างอื่น แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการคิด ถ้าอนาคตผมหลุดจากวงการเกมไปก็มีโอกาสครับ แต่ธุรกิจของผมก็ยังเกี่ยวกับเกมอยู่ ธุรกิจหลักคือ FPS นี่แหละ ส่วนอื่นๆจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเกมก็ได้หมด”

“นักพากย์มันก็เป็นอาชีพที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมแค่ 2 ปี ต้องยอมรับว่า นักพากย์ทำให้ผมเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเร็วมาก ตอนนี้ผมยังคงอยู่ได้เรื่อยๆกับงานนักพากย์ก็อาจจะสัก 2-3 ปี ตอนนี้ผมอายุ 32 ปี คิดว่าไม่เกิน 40 คงพอแล้วกับการนั่งพากย์”

ตลอดเส้นทางนี้ตั้งแต่นับ 1-100 เกมไม่เคยห่างจากชีวิตของ อาร์ท แม้ปัจจุบันจะรู้สึกอิ่มตัว แต่เขายังมีความสนุกกับการทำงานทุกวันตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา กับความท้าทายใหม่ๆที่วิ่งเข้ามาเสมอ

“เกมมันเป็นอาชีพของผม ต้องบอกว่าพี่แว่นเนี่ยแหละคือตัวยึดเหนี่ยว และ FPSThailand เพราะเราเดินเส้นทางนี้มาด้วยกัน แต่เราไม่ได้เดินทางเดิมทุกปี สิ่งที่ท้าทายในแต่ละปีคือ ผมทำงานแทบไม่เหมือนกัน”

“มองย้อนกลับไป ผมเริ่มจากนักข่าว เขียนข่าวลงเว็บ จากนั้นเริ่มจัดแข่งทัวร์นาเมนต์ ทำทีมอีสปอร์ต ทำคอนเทนต์สตรีมลงยูทูป แต่ละช่วงมันไม่เคยเหมือนเดิม ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ของโลกที่การปรับตัวตลอด”

“เพราะถ้าผมทำแบบเดิมจนถึงตอนนี้ชีวิตผมก็คงน่าเบื่อกับความจำเจตลอด 10 ปี ที่ผ่านมาแน่ๆ…” อาร์ท ทิ้งท้าย

อ่านเพิ่ม:อีสปอร์ตไหม? Final Fantasy 7 เปิดตัวเกม Battle Royale ลงมือถือ